3 สุดยอดสมุนไพรก้นครัวที่แม้แต่โรคร้ายยังต้องกลัว
สมุนไพรชั้นยอดไม่จำเป็นต้องราคาแพงเสมอไป ไม่จำเป็นต้องมาจากเมืองนอกเมืองนา อย่าพลาดทำความรู้จักกับสมุนไพรใกล้ตัว 3 ชนิดคือ หัวหอมแดง กระเทียม และมะเขือเทศ แล้วจะเห็นว่าสรรพคุณในการดูแลสุขภาพไม่ธรรมดาจริง ๆ ทั้งฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดไขมันในหลอดเลือด และดูแลโรคเบาหวาน
ผู้บริหารไอฟาร์ม
ใช้เวลาอ่านประมาณ: 2 นาที
Quick Navigation
ใกล้เกลือกินด่าง !!
มีของดีอยู่ใกล้ตัว แต่กลับมองไม่เห็นคุณค่า
บ้านเรามีผักผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยามากมายเต็มไปหมด แต่เรากลับมองข้ามไป คิดว่าเป็นผักเป็นหญ้าธรรมดา
ลองดูสมุนไพรบ้าน ๆ 3 ตัวนี้กันครับ แล้วจะรู้ว่าสรรพคุณไม่ธรรมดาจริง ๆ
หอมแดง
ตอนเด็กน้อย เวลาเป็นหวัดไม่สบายนิด ๆ หน่อย ๆ แม่ผมจะเอาหอมแดง 3-4 หัวมาทุบแล้วห่อด้วยผ้าบาง ๆ วางไว้บนหัวนอนให้สูดดมไอระเหยเข้าไป ไม่กี่วันก็ดีขึ้น
นั่นคือความทรงจำลาง ๆในวัยเด็กของผมกับหัวหอมแดง …จำได้ขึ้นใจ มีอยู่เท่านี้จริง ๆ
แต่แท้จริงแล้วหอมแดง ทำอะไรได้มากกว่าช่วยให้ผมหายหวัดเยอะแยะไปหมดเลยครับ
หัวหอมมีสารสำคัญหลายตัว เช่น Flavonoid (ฟลาโวนอยด์) Glycosides (กลัยโคไซด์) Dially Trisulfide (ไดอัลลิล ไตรซัลไฟล์) และ Glucokinin (กลูโคคินิน)
สรรพคุณเด่นของหอมแดง คือช่วยลด Cholesterol ชนิดเลว (LDL-C) และเพิ่ม Cholesterol (HDL-C) ชนิดดี และ Quercetin ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม Flavonoid มีฤทธิ์เป็น Antioxidant ที่ดีมาก จึงใช้ในการเสริมภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะ มะเร็งปอด และมะเร็งตับครับ
สอดคล้องกับที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติอเมริกาที่ใส่หัวหอมเป็นพืชที่มีฤทธิ์ป้องกันมะเร็งร่วมกับผักและผลไม้อื่น ๆ เช่น กระเทียม ขมิ้น มะเขือเทศ และ มันเทศเป็นต้น (ผักผลไม้พื้นๆทั้งนั้น !!)
นอกจากนั้นหอมแดงยังช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ด้วยสรรพคุณเด็ดดวงแบบนี้ เวลาที่บ้านผมยำปลากระป๋อง หรือยำเมนูอื่น ๆ ทานกัน เราใส่หัวหอมแดง และหัวหอมใหญ่ลงไปอีกเท่าตัวเลยครับ
ทานดีทั้งคู่นะครับ ทั้งหอมแดง และหอมใหญ่
แต่ถ้าถามว่าหอมไหนเด็ดกว่ากัน หอมแดงซิครับเพราะสารสำคัญสูงกว่ากันเยอะครับ
กระเทียม
พูดถึงหอมไปแล้ว ก็ต้องพูดกระเทียมด้วยจริงไหมครับ เพราะหอมกระเทียมเปรียบเหมือนแฝดคนละฝา หลายคนโดยเฉพาะสาว ๆ ไม่ค่อยชอบทานกระเทียม เพราะทานเข้าไปแล้ว กลิ่นปากจะไม่โสภา แถมยังเผ็ดอีกด้วย จะชอบหรือไม่ชอบก็ตามที ขอกระซิบบอกว่านี่คือสุดยอดสมุนไพรตัวหนึ่งของโลกทีเดียวครับ
เข้าทำนองจิ๋วแต่แจ๋ว สรรพคุณเพียบ !!
ตามตำรายาไทยที่ผมร่ำเรียนมา โบราณใช้กระเทียมเป็นยาขับลม ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
สารสำคัญในกระเทียมมีมากมาย แต่ที่พูดถึงกันบ่อย มีอยู่ 2-3 ตัวคือ Ajoene (อะโจอีน), Allicin (อัลลิซิน) และ Dially Trisulfide (ไดอัลลิล ไตรซัลไฟล์)
ตัวยาคล้ายกับหอมแดงเลย ผมเลยตั้งให้เป็นแฝดคนละฝาไงครับ
Allicin สารตัวนี้ละครับ ที่ทำให้กระเทียมมีกลิ่นฉุน เคยสังเกตไหมครับ กระเทียมอยู่เฉย ๆ มันไม่ส่งกลิ่น แต่ถ้าเราทุบ หรือหั่นกระเทียมเมื่อไร สารเคมีและเอนไซม์ในกลีบกระเทียมจะทำปฏิกิริยาเปลี่ยน Allicin ให้เป็น Allicin 4 ทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะตัวขึ้นมา ถึงตรงนี้ระหว่างกลัวมีกลิ่นปากกับการมีสุขภาพที่ดีต้องตัดสินใจเลือกแล้วละครับเพราะเจ้า Allicin มันมีฤทธิ์ช่วยรักษาสมดุลของ Cholesterol คือเพิ่ม HDL-C และไปลด LCL-C และยังมีฤทธิ์ต้านการก่อไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้อย่างดีเลยละครับ
คนที่ชอบกินข้าวขาหมูเป็นประจำแต่ไม่ยอมแตะกระเทียมสดและพริกขี้หนูเลย ไม่ช้าโดนไขมันถามหาชัวร์ครับ
ยิ่งไปกว่านั้นกระเทียมยังช่วยต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (เหมือนเห็ดหลินจือ) ลดการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
กระเทียมจึงเป็นสมุนไพรที่ดีต่อ (หัว) ใจ !!
กระเทียมยังโด่ดเด่นเรื่องช่วยลดความดันโลหิตและลดระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย ดีสำหรับคนป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ครับ
นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยพบว่ากระเทียมอาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ เพราะออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย สารสำคัญ เช่น Dially Trisulfide, Quercetin และ Ajoene สามารถยับยั้งฤทธิ์ก่อมะเร็งของไนโตรซามีน และอะฟลาทอกซินได้ สำหรับการทานกระเทียมแนะนำให้ทานสดนะครับ เพราะสารสำคัญในกระเทียมสลายตัวง่ายมากเมื่อถูกความร้อน
เมนูที่ภรรยาชอบทำให้ทานคือเอากระเทียมมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วเติมซีอิ้วขาวลงไปให้ท่วม จะใส่พริกขี้หนูลงไปหน่อยหนึ่งก็ได้ครับ เอาไปทานกับแกงจืด ไข่น้ำ หรืออะไรที่จืดๆ จะอร่อยมากครับ บางทีผมก็ชอบตักเอากระเทียมที่แช่ซีอิ้วขาวชุ่ม ๆ มากินเล่น
อร่อยดีครับ
จริงๆ ผมเห็นมาจากมาเลเซีย สมัยก่อนไปเยี่ยมโรงงานน้ำมันปาล์มที่โน่นบ่อย เขาชอบพาไปเลี้ยงอาหารจีน ทุกร้านก็จะมีกระเทียมกับพริกขี้หนูสับไว้ใส่กับ Soy Sauce แต่พอมาทำกินเองที่บ้าน ไม่สับ หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผมว่าอร่อยกว่าเยอะ
ทานวันละ 4-5 กลีบกำลังดีครับ แต่ต้องเป็นกระเทียมไทยนะครับ กลีบขนาดกำลังดี ไม่ใหญ่เกินไป และที่สำคัญข้อมูลของ ม. มหิดลยังระบุอีกว่ากระเทียมไทยมีสารสำคัญสูงกว่ากระเทียม Import เยอะเลยครับ
เวลาทานห้ามทานตอนท้องว่างเพราะกระเทียมมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้ และถ้าทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่ ก็ควรระวังด้วยครับ เพราะกระเทียมจะเข้าไปเสริมฤทธิ์เพิ่มขึ้นไปอีก
มะเขือเทศ
เวลาไปกินส้มตำกับเพื่อนกับฝูง มีแต่คนเขี่ยมะเขือเทศทิ้ง ผมรับกินเรียบ (แต่ผมก็เขี่ยปูเค็มทิ้ง ฮ่า)
มะเขือเทศมีสารสำคัญทางยาอยู่ตัวหนึ่ง ชื่อ Lycopene (ไลโคปีน) เป็นอีกหนึ่งสุดยอด Antioxidant ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดีครับ ที่สำคัญยังพบว่าเจ้า “ไลโคปีน” ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้อีกด้วย โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer)
จากสถิติเมื่อปี 2557 ชายไทยที่เข้ารับการรักษามะเร็งที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมากเป็นอันดับ 1 ลองลงมาคือมะเร็งปอด และมะเร็งตับ ถ้ารวม ๆ ทั่วประเทศ มะเร็งต่อมลูกหมากน่าจะรั้งอันดับ 4 หรือ 5 (ของอเมริกาอยู่อันดับ 2) แต่แนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆครับ จากหนังสือสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทย (Cancer In Thailand) ฉบับที่ 5 -8 ที่จัดทำโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ อุบัติการณ์ต่อประชากร 100,000 คนของมะเร็งต่อมลูกหมากอยู่ที่ 7.1 ครับ
ผมมีโอกาสแนะนำคนป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจำนวนหนึ่งให้ทานมะเขือเทศรวมกับเห็ดหลินจือของไอฟาร์ม (รวมกับแนวทางอื่นๆ เช่น งดอาหารบางชนิด การทำสมาธิ) ผลออกมาน่าพอใจมากครับ ค่า PSA (Prostate Specific Antigen) ของหลายคนลดลงมาก โดยเฉพาะพ่อตาผมเอง
เอา ผู้ชายไทยท่องไว้ให้ขึ้นใจ
ไลโคปีน ไลโคปีน ไลโคปีน !! มะเขือเทศ มะเขือเทศ มะเขือเทศ !!
—–
จัดว่าเด็ดไหมครับ สมุนไพร 3 ตัวนี้ หายากไหมครับ แพงไหมครับ ? ไม่เลย เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีทั้งนั้น มีอยู่ในครัวกันแทบทุกบ้านอยู่แล้ว
อ่านบทความเสร็จไม่ต้องท่องชื่อสารสำคัญอะไรให้ปวดหัวหรอกครับ แค่จำไว้ว่าสมุนไพรบ้าน ๆ 3 ตัวนี้มันดีต่อสุขภาพของเรา แล้วหาโอกาสทานบ่อย ๆ หรือใครที่ไม่ชอบทาน ก็น่าจะต้องฝึกทานดู
ไม่ต้องตั้งหน้าตั้งทานแค่ 3 ตัวนี้อย่างเดียวนะครับ ทานอาหารเน้นให้หลากหลายเข้าไว้
เพียงเท่านี้ก็ห่างไกลโรคได้เยอะแยะแล้วครับ