7 สุดยอดสมุนไพรใกล้ตัวพาห่างไกลโรคเบาหวาน
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บที่อันตรายได้มากมาย อาทิ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ และมะเร็งชนิดต่าง ๆ เป็นต้น หยุดความเสี่ยงลงทันทีด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทานอาหารที่ถูกต้อง และต่อไปนี้คือ 7 ยอดสมุนไพรใกล้ตัวที่จะช่วยคุณคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงอย่างได้ผล
ผู้บริหารไอฟาร์ม
ใช้เวลาอ่านประมาณ: 3 นาที
Quick Navigation
น่าตกใจมากครับ เดี๋ยวนี้เพื่อน ๆ ผมมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกันเยอะแยะไปหมด เตลิดเปิดเปิงเข้าโซน “เบาหวาน” ไปแล้วก็หลายคน
หรืออย่างช่วงระหว่างการอบรมหลักสูตรเห็ดหลินจือ ผมก็มักจะถามผู้เข้าอบรมว่ามีใครน้ำตาลในเลือดสูงบ้าง เชื่อไหมครับบางครั้งรอบหนึ่งมีถึง 4-5 คน ที่สำคัญส่วนใหญ่อายุยังไม่เท่าไรกันเลย แสดงว่าปัจจุบันคนไทยมีความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยเพราะน้ำตาลในเลือดสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ …เหมือนที่ผมเคยบอกไว้ในบทความก่อนหน้านี้เลยครับ
วันนี้ก็เลยจะขอเขียนถึงสมุนไพรที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดมาฝากแทนความห่วงใยกันเสียหน่อยครับ
เอาที่ใกล้ ๆ ตัว หาทานง่าย ๆ … Lot แรกจัดมาให้ 7 ตัวก่อนนะครับ
ตำลึง
ตอนเด็ก ๆ เคยทาน “แกงจืดตำลึง” กันไหมครับ ? ผมว่าน่าจะเป็นเมนูยอดฮิตเมนูหนึ่งของเด็กไทยเกือบทุกบ้าน แล้วตอนนี้ละครับ…ยังทานเมนูจากตำลึงกันอยู่ไหม ? บ่อยแค่ไหนครับ ? ต้องใช้คำว่า “น่าเสียดาย” ถ้าตอนนี้คุณไม่ค่อยมีโอกาสได้ทานตำลึงกันสักเท่าไรแล้ว
กระซิบบอกในฐานะคนชอบพอกัน เจ้าผักริมรั้วใบแฉก ๆ สีเขียว ๆ ดูบ้าน ๆ คือยอดสมุนไพรตัวหนึ่งที่ธรรมชาติให้เรามาเลยละครับ คนไหนมีปัญหาสายตา ตาพร่า ตามัว ต้องหามาทานเลยนะครับเพราะ “ตำลึง” มี “วิตามิน เอ” สูงมาก
“วิตามินซี” ก็ใช่เล่นครับ เห็นรสจืด ๆ อย่างนี้ ตำลึง ( 30 มก. / 100 กรัม) มีวิตามินซีสูงกว่ามะนาว ( 20 มก. / 100 กรัม) อีกนะครับ
งงดิ !!
และถ้าสาว ๆ คนไหนอยากมีผิวสวย เปล่งปลั่งและมีน้ำมีนวล ผมแนะนำให้ทานบ่อยๆได้เลยครับ “วิตามิน บี 3” เพียบตามรสยา ๙ รสของแพทย์แผนไทย “ตำลึง” ถือเป็นยารสเย็น เอาต้มน้ำแล้วแทรกเกลือนิด ๆ ใช้ดับร้อน ดับพิษไข้ได้ดีเลยครับ
ส่วนเรื่อง “การลดน้ำตาลในเลือด” ตำราอายุรเวทมีการใช้เป็นยารักษาเบาหวานมานานแล้วครับ…เป็นพันปีแล้ว ใช้ได้ทั้งราก เถา ใบ เลยครับ
และเมื่อปี 2546 ทีมผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับพืชอาหารและสมุนไพรที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด เขาพบว่าตำลึง (และโสมอเมริกัน) เป็นพืชที่มีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิผลการลดน้ำตาลดีที่สุด แสดงผลการลดน้ำตาลทั้งในคนและสัตว์ทดลอง
นอกจากนี้ “ตำลึง” ยังมีฤทธ์เป็น Anti-oxidant ช่วยต้านการอักเสบได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อการชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ที่เป็นอาการแทรกซ้อนของโรคเบาวานอีกด้วยครับ
ทานให้ได้วันละ 50 กรัม จะช่วยคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ได้
อีกเรื่องที่หลายคนยังไม่รู้ “ตำลึง” ใช้แทนผงชูรสได้นะครับ อยากให้อาหารมีรสชาติออกหวานนัวๆ ใส่ตำลึงลงไปครับ
เห็นไหมละครับก๋วยเตี๋ยว หรือต้มเลือดหมูที่ใส่ตำลึงจะมีรสชาติกลมกล่อม ดีเพียบพร้อมขนาดนี้ คนที่เป็นเบาหวาน หรือน้ำตาลในเลือดสูงหาทานกันนะครับ จะให้ดีก็ปลูกเองเลยครับ หมดปัญหาเรื่องยาเคมี และฉี่หมา …555
เตยหอม
สมุนไพรตัวนี้ ผมจำสรรพคุณได้แม่น เพราะตอนเรียนเภสัชแผนไทยคุณครูให้ออกไปพูดหน้าห้องตั้งแต่วันแรกเลย “เตยหอม” มีดีกว่าที่แท๊กซี่เอาไปใช้ดับกลิ่นในรถเยอะครับ สรรพคุณเพียบ แถมใช้ได้ทุกส่วนอีกต่างหาก หมอยาใช้ “รากเตย” เป็นยาขับปัสสาวะ ลดความดัน ลดเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต หรือลดอัตราการเต้นของหัวใจก็ได้ครับ และใช้ “ทุกส่วน” บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้อ่อนเพลีย ทำให้ผ่อนคลาย และหลับสบายครับ
ตอนผมลงทำงานในสวนที่ไอฟาร์ม จะเอาน้ำต้มใบเตยติดตัวลงไปด้วย ดื่มแล้วหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเลยครับ (ก็ภรรยาเขาเตรียมให้นิ 555)
คนที่ใช้ดูแล “เบาหวาน” ให้ใช้ “ราก” นะครับ แล้วเอา “ใบ” แต่งกลิ่นเอาหน่อยนะครับ ตัวนี้ก็อยากให้หามาปลูกติดบ้านกันเอาไว้ ปลูกติดริมน้ำและมีแดดร่ำไร ๆ ได้จะยิ่งงามครับ ที่ไอฟาร์มผมปลูกไว้กลางแจ้งเลย ก็โอเครดีนะครับ
กะเพรา
สาวก “กะเพรา” อย่างผม ไม่ลืมหยิบเอาสมุนไพรบ้าน ๆ ตัวนี้มาไว้ใน list “สมุนไพรลดน้ำตาล” อย่างแน่นอน ถ้าใครบอกสั่ง “เมนูสิ้นคิด” สวนกลับไปแรง ๆ ได้เลยครับ “กะเพรา” นี่ได้ชื่อว่าเป็น “ผักเทพเจ้า” เลยนะครับ…คนอินเดีย (ตามวัดฮินดู) เขาบูชาในฐานะตัวแทนของเทพเจ้า
สงสัยใช่ไหมครับว่าทำไม ?
ก็เพราะ “กะเพรา” ถือเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าทางยามากที่สุดชนิดหนึ่งของการแพทย์อายุเวทเลย เป็นทั้งยารักษาเบาหวาน แก้ท้องเสีย ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ไอ แก้หอบหืด ปัญหาของโรคหัวใจและหลอดเลือด
ยัง…ยังไม่หมดครับ !!
เป็น Anti-Oxidant ชั้นดี ยับยั้งการเกิดมะเร็ง ต้านการอักเสบ ต้านฮิสตามิน ลดคลอเลสเตอรอล รวมทั้งแก้ไข้ แก้ปวดได้อีกด้วย ตัวรุม ๆ เมื่อไร ผมจัดเลย “ต้มยำน้ำใส” ให้ภรรยาใส่ใบกะเพราลงไปเยอะหน่อย เผ็ดสักนิดก็ดีครับ ตำพริกให้แตก ๆ ซดร้อน ๆ โล่งคอ เหงื่อแตกพลั่ก ๆ สักพักแล้วจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
อีกอย่างครับ บ้านเราเป็นเมืองร้อนชื้น ลมภายในเกิดขึ้นง่ายครับ “กะเพรา” ซึ่งเป็นยารสร้อนจะทำให้เกิดลมไปขับลม ป้องกันมิให้ลมไปทำอันตรายต่อร่างกายได้ครับ
น้ำมันหอมระเหยพวก Ursolic acid และ Apeigenin ใน “ใบกะเพรา” ช่วยทำให้เซลล์ตับอ่อนผลิตอินซูลิน และกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินได้ดียิ่งขึ้นครับ เป็นการควบคุมระดับน้ำตาลที่ต้นทางเลยครับ
เป็นไงครับ เมนูสิ้นคิด ?
มะระขี้นก
สารภาพเลยครับ … ก่อนหน้านี้ผมเบาปัญญา…ไม่กล้าแตะเลยครับ ขมปี๋ซะขนาดนั้น แถมรูปลักษณ์ก็เป็นตะปุ่มตะป่ำเต็มไปหมด ไม่น่าทานเอาซะเลย หารู้ไม่ทั่วโลกเขานิยมใช้ “มะระขี้นก” เป็นยาแก้เบาหวาน ไม่ว่าจะในจีน แอฟริกา อเมริกาใต้ รวมทั้งอินเดียและพม่า
“มะระขี้นก” มีกลไกในการลดน้ำตาลในเลือดหลายอย่าง อาทิ กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน เพิ่มความไวในการตอบสนองต่ออินซูลิ ลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์บริเวณลำไส้เล็ก และ ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อ hexokinase อีกด้วยครับ
เห็นสรรพคุณแบบนี้ ผมเลยลองกลั้นใจทานดู … เดี๋ยวนี้อย่ามาแย่งกันให้ยากครับ ลวกก่อนแล้วเอามาจิ้มน้ำพริก…บอกคำเดียวอร่อยสุด ๆ ไปเลยครับ
โง่ซะนานเลยผม
ช้าพลู
“ช้าพลู” รู้จักกันนะครับ ? หรือจะเรียก “ชะพลู” ก็ได้แล้วแต่ถนัดครับ
เอาเป็นว่าใบที่กินคู่กับเมี่ยงคำอะครับ ตัวนี้ผมปลูกไว้ที่ไอฟาร์มพอสมควรเลย นอกจากสรรพคุณทางยา ผมว่ามันสู้กับหญ้าได้ดีครับ หญ้าจะไม่ค่อยขึ้น เขาแนะนำให้ปลูกในร่ม ผมก็ซัดกลางแจ้ง ร้อน ๆ เลย ช่วงแรกก็หงอยหน่อยครับ พอเขาปรับตัวได้ ก็ยืนกล้าท้าแดดสบาย
“ช้าพลู” จะคล้ายกับตำลึง คือมีฤทธิ์เป็น Anti-oxidant สูงมาก รวมทั้งวิตามิน เอ และวิตามิน ซี ก็สูงไม่แพ้กัน
แคลเซียมก็ไม่น้อยหน้าครับ
ตำรับยาพื้นบ้านใช้ช้าพลู “ทั้งห้า” แก้เบาหวานครับ (คำว่า “ทั้งห้า” จะหมายถึง ต้น + ราก + ใบ + ดอก + ผล นะครับ)
ไฮไลต์ของช้าพลูอยู่ตรงที่มันไม่มีฤทธ์ลดน้ำตาลในเลือดของคนปกติ
รู้สรรพคุณแล้ว อย่าลืมหา “เมี่ยงคำ” มากินบ้างนะครับ หรือจะเป็น “ไข่เจียวใบชะพลู” ก็ได้ ผมเห็นคนทานมังสวิรัติชอบทานกัน
ว่านหางจระเข้
ตอนแรกผมตั้งใจปลูกเอาไว้ทำเครื่องสำอางสมุนไพร เพราะช่วยได้ทั้งเรื่องการรักษาบาดแผล อาการคันที่ผิวหนัง ผมร่วง โรคผิวหนังพอง ถูกแดดเผา ไปจนถึงผิวด่างดำ แต่ศึกษาไปศึกษามา สรรพคุณด้านอื่นก็เด่นไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้ท้องผูก ริดสีดวงทวาร และกระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ รวมทั้งโรคเหงือกและฟัน
แถมยังมีสรรพคุณใน “การลดน้ำตาลในเลือด” ทั้งคนและสัตว์ทดลองได้ดีอีกด้วย
หามาปลูกติดบ้านไว้ก็ดีนะครับ ผมว่าดอกเขาสวยดี สีแดง ๆ ส้ม ๆ ยิ่งเวลาออกดอกพร้อมกันยิ่งสวยครับ
ปลูกง่ายครับ…ปลูกทิ้ง ปลูกขว้างก็ไม่ค่อยตายครับ
เห็ดหลินจือแดง
มาถึงตัวสุดท้ายครับ
คนที่ระดับน้ำตาลเข้าโซนเบาหวานไปแล้ว ผมแนะนำให้ทานเห็ดหลินจือเลยครับ สาร ganoderan A, B และ C ซึ่งเป็นสารกลุ่ม Polysaccharide ที่อยู่ใน “เห็ดหลินจือ” ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้อย่างดีเลยละครับ
งานทดลองชิ้นหนึ่งของ Hikino ที่ฉีดสารสกัดเห็ดหลินจือเข้าไปที่หนูที่อยู่ในสภาวะปกติและหนูที่เกิดเบาหวาน ผลพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เกิดเบาหวานลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 50% และผลลดระดับน้ำตาลก็ยังคงเห็นได้ชัดหลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว
กลไกในการลดน้ำตาลในเลือดของเห็ดหลินจือก็คือมันจะเพิ่ม “อินซูลินพลาสม่า” โดยลด “ไกลโคเจน” ที่ตับและปรับการทำงานของเอนไซม์ที่เปลี่ยนแปลงกลูโคสในตับครับ
จริง ๆ มีงานทดลองเกี่ยวกับเห็ดหลินจือกับเบาหวาน และระดับน้ำตาลในเลือดสูงค่อนข้างเยอะ เอาไว้ผมค่อยเอามาเล่าให้ฟังอีกทีนะครับ จะได้ใส่ข้อมูลได้เยอะหน่อย
จะคุยเรื่องเบาหวาน ต้องคุยไปถึงเรื่องตับโน่นครับ … เพราะต้นตอของ “โรคเบาหวาน” อยู่ตรงนั้นครับ
รู้ไหมครับว่าปัจจุบันได้มีการจดสิทธิบัตรสารสำคัญในเห็ดหลินจือ คือ Ganoderans A, B และ C ทำเป็นยารักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีข้อบ่งชี้ใช้ลดน้ำตาลในเลือดแล้วนะครับ ?
แสดงว่าอะไรครับ ? เห็ดหลินจือสู้กับเบาหวานได้สนุกไงครับ !!
สรุป
รู้สรรพคุณของสมุนไพรทั้ง 7 ชนิดกันไปแล้ว ก็ลองหาทานกันดู ตัวไหนปลูกเองได้ ก็ปลูกเลยนะครับ จะได้ทำทานได้อย่างสม่ำเสมอ
แต่ต้องอย่าลืมนะครับ น้ำตาลในเลือดสูงส่วนใหญ่มีปัญหามาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิต กินอาหารไม่ถูกต้อง นอนดึก และไม่ออกกำลังกาย
ต่อให้สมุนไพรทั้ง 7 ชนิดที่ผมแนะนำมีสรรพคุณเลอเลิศยังไง ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ยากที่สุขภาพจะฟื้นคืนกลับมาดังเดิม
โรคพวกนี้มันเป็น “โรคแพ้หัวใจตัวเอง” เสียด้วยซิครับพี่น้อง