คนไทยเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น...เพียงเพราะ "ไม่อ่อนหวาน"
เห็นข้อมูลแล้วน่าตกใจ คนไทยเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นทุกปีเพราะไม่รู้จัก “อ่อนหวาน” และที่น่าเศร้าใจไปกว่านั้นเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ยิ่งตกอยู่สถานการณ์ที่ย่ำแย่และเลวร้ายยิ่งกว่าอีก ถ้าคุณไม่อยากให้ตัวคุณเองและคนที่คุณรักเจ็บป่วยจากการเป็นคนไม่อ่อนหวาน นี่คือข้อมูลที่จำเป็นมาก ๆ สำหรับคุณ
ผู้บริหารไอฟาร์ม
ใช้เวลาอ่านประมาณ: 6 นาที
Quick Navigation
คนไทยเสียชีวิตเพราะ “ไม่อ่อนหวาน” เพิ่มมากขึ้นทุกปี ใช่แล้ว…อ่านไม่ผิดหรอกครับ…เสียชีวิตเพราะไม่อ่อนหวานจริง ๆ ทุกวันนี้คนไทย [ จำนวนไม่น้อย ] กิน “น้ำตาล” กันดุมากครับ
- กินก๋วยเตี๋ยวใส่น้ำตาลทรายทีละ 3-4 ช้อนพูนๆ
- ดื่มน้ำอัดลมต่างน้ำ เช้าจรดค่ำ
- กระดกเครื่องดื่มชูกำลังวันละ 2-3 รอบ
- ซัดชาเขียวกันโครมๆ (ป่วยไม่ว่าขอลุ้นรางวัล !!)
- เค้กเบเกอรี่ต่อแถวรอคิวกันยาวเหยียดแทบทุกร้าน
- ขนมนมเนยไม่เคยขาดปาก
คงนึกในใจอยู่ใช่ไหมครับ ทานหวาน ทานน้ำตาลนิดหน่อยจะอะไรกันนักกันหนา ชีวิตเท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็เครียดมากพออยู่แล้ว จะหาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการกินตามใจปากตัวเองบ้างจะเป็นอะไรไป
เอาเป็นว่าตามอ่านต่อให้จบละกันนะครับแล้วจะพบว่าตัวคุณเอง หรือคนที่คุณรักอาจกำลังโดนภัยเงียบจากน้ำตาลเล่นงานจนงอมพระรามอยู่ก็เป็นไปได้
รู้จักน้ำตาลชนิดต่าง ๆ
กลุ่มน้ำตาล
“น้ำตาล” แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มครับ
กลุ่มแรก เราเรียกว่า “น้ำตาลธรรมชาติ” หรือ “Natural Sugar” ตามชื่อเลยครับ เราจะพบน้ำตาลกลุ่มนี้อยู่ในผัก ผลไม้ น้ำผึ้ง รวมทั้งน้ำนม
กลุ่มที่สอง เรียกว่า “น้ำตาลเติมแต่ง” หรือ “Added Sugar” เป็นน้ำตาลที่ถูกดึงออกจากแหล่งธรรมชาติแล้วนำไปผ่านกระบวนการแปรสภาพอีกทีก่อนนำไปใส่ลงในอาหาร ตัวอย่างเช่น น้ำตาลที่ใส่ลงไปก๋วยเตี๋ยว กาแฟ น้ำอัดลม เค้ก ขนมหรือแม้แต่ในน้ำผลไม้เอง
ความแตกต่างของน้ำตาล 2 กลุ่มนี้ก็คือ “น้ำตาลธรรมชาติ” นอกจากจะให้พลังงานแล้ว ยังมีแร่ธาตุ กากใย วิตามิน รวมทั้งโปรตีนรวมอยู่ด้วย ขณะที่ “น้ำตาลเติมแต่ง” ให้แต่พลังงานอย่างเดียวเลยครับ หลายคน (นักโภชนาการ / นักสาธารณสุข) จึงมักเรียก “น้ำตาลเติมแต่ง” ว่า “พลังงานว่างเปล่า” คือให้แต่พลังงาน แต่ไม่มีพวกแร่ธาตุ กากใย หรือวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายอยู่เลย
จากความหมายข้างต้นสรุปได้ว่าไม่ว่าเราจะทานข้าว ผลไม้ ผัก ขนมปัง เค้ก ไอศกรีม น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชาเขียว นม หรือทานขนมขบเคี้ยวเราจะได้น้ำตาลติดเข้าไปในร่างกายของเราด้วย มากหรือน้อยเท่าไร ดีหรือไม่ดีอย่างไรให้ตามต่อไปเรื่อย ๆ นะครับ
ชนิดของน้ำตาล
เรื่องที่ควรเข้าใจต่อมาก็คือ “ชนิดของน้ำตาล” ครับ
น้ำตาลทุกชนิด มีธาตุเป็นองค์ประกอบอยู่แค่ 3 ตัวเท่านั้นครับคือ
“C” หรือ คาร์บอน
“H” หรือ ไฮโดรเจน
“O” หรือ อ๊อกซิเจน
อะตอมของธาตุทั้ง 3 ตัวนี้ เมื่อมารวมตัวกันเป็นโมเลกุลของน้ำตาลจะแบ่งออกตามโครงสร้างได้เป็น 3 ชนิดหลักๆดังนี้ครับ
หนึ่ง
น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เช่น
- น้ำตาลกลูโคส (glucose) – ตัวนี้มีอยู่ในธรรมชาติ พบมากในพืช ผัก ผลไม้ องุ่น และข้าวโพดเป็นต้น
- น้ำตาลฟรักโทส (fructose) – ตัวนี้มีอยู่ในน้ำผึ้งเยอะเลยครับ รวมทั้งกากน้ำตาล และผลไม้สุก เช่น มะม่วงสุก
- น้ำตาลกาแล็กโตส (galactose) – ตัวนี้คล้ายกับกลูโคส แต่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ
สอง
น้ำตาลโมเลกุลคู่ เช่น
- น้ำตาลซูโครส (sucrose) – ตัวนี้ก็คือน้ำตาลทราย หรือน้ำตาลอ้อยนั่นเองครับ ในธรรมชาติจะพบมากในอ้อย และผลไม้หวานหลาย ๆ ชนิดครับ
- น้ำตาลมอลโทส (moltose) – จะพบมากในข้าวมอลต์
- น้ำตาลแล็กโทส (lactose) – ตัวนี้ไม่มีในพืชครับ พบมากในน้ำนมครับ บางคนเลยเรียกน้ำตาลแล็กโทสว่า “น้ำตาลนม”
สาม
น้ำตาลโมเลกุลใหญ่ หรือเชิงซ้อน เช่น
- แป้ง – สะสมอยู่ในเมล็ด ราก หัว ลำต้น และใบของพืช เช่น ข้าว มัน เผือก และกลอย
- ไกลโคเจน (glycogen) – เป็นน้ำตาลหลายชั้น พบในตับและกล้ามเนื้อ
- เซลลูโลส (cellulose) – เข้าใจง่ายๆตัวนี้ก็คือกากใยอาหารนั่นเอง ร่างกายเราย่อยไม่ได้ แต่ก็มีประโยชน์ช่วยกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ไคติน (chitin) – ตัวนี้จะพบเฉพาะในสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น กุ้ง และปูครับ
- ลิกนิน (lignin) – คนที่เรียนเพาะเห็ดกับไอฟาร์ม จะได้ยินผมพูดถึงตัวนี้บ่อย ๆ จะมีอยู่ในต้นไม้ครับ ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับเนื้อเยื่อของพืช
- เฮปาริน (heparin) – พบใน ตับ ปอด ผนังเส้นเลือดแดง มีสมบัติทำให้เลือดไม่แข็งตัว
- อินนูลิน (inulin)- พบในพืชบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม
- เพกติน (pectin) – พบใน ผลไม้ มีลักษณะคล้ายวุ้น
เห็นชื่อแซ่อย่างเป็นทางการของน้ำตาลเต็มพรืดไปหมดอย่างนี้ก็อย่าเพิ่งท้อไปครับ ไม่ต้องไปท่องอะไรทั้งสิ้นครับ
ให้จำง่ายๆแบบนี้ครับ
ถ้าเป็นน้ำตาลเชิงซ้อน เช่น ข้าว ขนมปัง และก๋วยเตี๋ยว (เส้น) ร่างกายต้องใช้เวลาถึง 1-2 ชั่วโมงกว่าจะเปลี่ยน “แป้ง” ให้กลายเป็น “น้ำตาลกลูโคส” ก่อนถึงจะนำไปใช้ได้ครับ ส่วนถ้าเป็นพวกน้ำตาลเชิงเดี่ยว เช่น น้ำตาลในผลไม้ ร่างกายเราจะนำไปใช้ภายใน 10-15 นาทีเท่านั้นเองครับ
ให้ทดข้อมูลส่วนนี้เก็บไว้ในใจกันก่อนนะครับ
กลไกลการทำงาน
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นครับ ไม่ว่าเราจะทานน้ำตาลชนิดไหนเข้าไป ร่างกายของเราจะต้องเปลี่ยนน้ำตาลชนิดนั้นให้เป็นน้ำตาลกลูโคส (Glucose) เสียก่อน ร่างกายเราถึงจะนำไปใช้ได้ เราจึงเรียกเจ้า “Glucose” กันว่า “Blood Sugar” หรือน้ำตาลในกระแสเลือดนั่นเองครับ
ถ้าเมื่อไรเราบริโภคน้ำตาลมากเกินความต้องการของร่างกาย ร่างกายของเราจะเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสส่วนเกินไปเป็น “ไกลโคเจน” หรือ “Glycogen” เก็บไว้ใน “ตับ” และ “กล้ามเนื้อ” (คงจำกันได้นะครับตัวนี้เพราะผมเขียนถึงอยู่ข้างบนแล้ว) เปรียบไปแล้วเจ้า “ไกลโคเจน” ก็คือ “น้ำตาลสำรอง” ที่จะถูกเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น (ร่างกายขาดน้ำตาล) นั่นเองครับ ถัดจากนี้ถ้ายังมีน้ำตาลหลงเหลืออีก คราวนี้ “ตับ” จะแปรสภาพน้ำตาลไปกักเก็บไว้เป็นพลังงานสำรองในรูปแบบ “ไขมัน” แล้วละครับ
ดังนั้นถ้ากินแป้งกินน้ำตาลอย่างไม่บันยะบันยัง ปล่อยให้เกิน Limit ความต้องการของร่างกายอย่างต่อเนื่อง ไขมันจะค่อย ๆ สะสมอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง และตามอวัยวะต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นครับ
คงไม่ต้องบอกนะครับว่าถ้าปล่อยไว้นานไปจะป่วยเป็นโรคอะไร ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยกันว่าร่างกายของเราไม่เอาเจ้า “ไกลโคเจน” และ “ไขมัน” ไปใช้บ้างเลยหรือ ?
ตอบอย่างนี้ครับ
ระบบของร่างกายมันมีขั้นมีตอนของมันครับ
ปกติร่างกายจะเอาพลังงานที่อยู่ในรูป “น้ำตาลกลูโคส” ไปใช้ก่อนเป็นอันดับแรกครับ เว้นแต่เลือดของเรามีน้ำตาลกลูโคสอยู่ในระดับต่ำ ร่างกายถึงจะไปดึงเอา “น้ำตาลสำรอง” หรือ “ไกลโคเจน” จากตับและกล้ามเนื้อออกมาใช้ครับส่วน “ไขมัน” จะถูกดึงไปใช้เป็นอันดับสุดท้ายนู่นเลยครับ
อ่านมาถึงตรงนี้คนที่มีร่างกายเกิน “อวบระยะสุดท้าย” ไปแล้วต้องรู้แล้วว่าจะจัดการให้ตัวเองกลับมาเท่สมาร์ทเหมือนเดิมอย่างไร
ร่างกายต้องการน้ำตาลวันละเท่าไร ?
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ประกาศเมื่อปี 2015 ย้ำให้ผู้ใหญ่และเด็กควรลดการบริโภคน้ำตาลประเภท free sugar ให้เหลือไม่เกิน 10% ของความต้องการพลังงานต่อวัน และจะยิ่งช่วยลดปัญหาสุขภาพลงได้อีกมากหากสามารถบริโภคน้ำตาลให้ต่ำกว่า 5 % (ประมาณ 25 กรัม หรือ 6 ช้อนชา) ของความต้องการพลังงานต่อวันได้
ตีความหมายคำว่า “Free Sugar” กันสักนิดครับ
“Free Sugar” คือน้ำตาลโมเลกุลเชิงเดี่ยว (monosaccharides) เช่น กลูโคส และ ฟรักโทส และน้ำตาลโมเลกุลคู่ (disaccharides) เช่น ซูโครส ที่เติมแต่งลงไปในอาหารโดยผู้ผลิตอาหาร พ่อครัว หรือตัวผู้บริโภคเอง + รวมไปถึงน้ำตาลที่มีอยู่ตามธรรมชาติในน้ำผึ้ง น้ำเชื่อม และน้ำผลไม้ด้วย
หมายความว่า Limit ตามคำแนะนำขององค์กรอนามัยโลก รวมทั้งน้ำตาลเติมแต่ง (Added Sugar) และน้ำตาลธรรมชาติ (Natural Sugar) อีกส่วนหนึ่งเข้าไปคำนวนด้วยนะครับ บอกตามตรงส่วนตัวผมไม่ค่อยเชื่อข้อมูลจากหน่วยงานลักษณะนี้แบบหมดใจสักเท่าไร มันชอบมี Hidden Agenda หมกเม็ดให้กังวลอยู่เสมอครับ อุตสาหกรรมยายังมี Master Mind คอยกำกับ แล้วน้ำตาลที่เกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านจะไม่มีอาการเดียวกันหรือ ???
ถ้าอย่างนั้นจะให้ใช้ข้อมูลจากไหนใช่ไหมครับ ? (ผมแอบเห็นคนบ่นพึมพร่ำกันหลายคน) ส่วนตัวผมเลือกใช้วิธีการคำนวนของ “คุณหมอบุญชัย อิศราพิสิษฐ์” มาประกอบด้วยครับ จะใช้วิธีนี้ได้อันดับแรกสุดเราต้องรู้ก่อนครับว่าระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าไร
โดยทั่วไปน้ำตาลในกระแสเลือดของคนปกติอยู่ที่ประมาณ 70-110 มก. / ดล. ครับ คือต่ำสุดต้องไม่ต่ำไปกว่า 70 มก. / ดล. ส่วนสูงสุดให้เต็มที่ไม่เกิน 110 มก. / ดล. นี้คือตัวเลขเป้าหมายที่ต้องควบคุมให้อยู่
หลังจากนั้นก็เอา “น้ำหนักตัว” มาใช้ในการคำนวนหา “ปริมาณน้ำตาลที่แต่ละคนควรบริโภคต่อวัน” ต่อไปครั ปกติคนเราจะมีเลือดหมุนเวียนอยู่ในร่างกายประมาณ 80 ซีซีต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม อย่างผมหนัก 68 กิโลกรัม ผมน่าจะมีเลือดไหลเวียนอยู่ในร่างกาย 5,440 ซีซี หรือประมาณ 5.44 ลิตร ถ้าเอาฐานขั้นต่ำเป็นตัวคำนวน (70 มก. / ดล.) ที่ปริมาณเลือด 5.44 ลิตร จะมีปริมาณน้ำตาลอยู่ 3,808 มิลลิกรัม หรือประมาณ 3.81 กรัมเท่านั้น
หมายความว่าร่างกายของผมต้องการน้ำตาลเพียงแค่วันละไม่ถึงช้อนชาด้วยซ้ำไปครับ (1 ช้อนชา ประมาณ 4 กรัม)
เทียบกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกแล้วคนละเรื่องเลยใช่ไหมครับ
ห่างกันแบบน่าตกใจ
เมื่อข้อมูลไม่ตรงกันในเรื่องอันตรายสุดๆแบบนี้ ผมขอเลือก “ยักต่ำ” ไว้ดีกว่า น่าจะปลอดภัยกว่า
อย่างไรก็ดีผมคิดว่าความจำเป็นการบริโภคน้ำตาลของแต่ละคนไม่น่าจะเท่ากันเพราะมีปัจจัยแปรผันหลายตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น คนน้ำหนักตัวเท่ากัน แต่คนหนึ่งทำงานใช้แรงงาน อีกคนนั่งทำงานสบายๆ ไม่น่าต้องการใช้น้ำตาลในปริมาณเท่ากัน หรืออีกคนสุขภาพดี อีกคนป่วยเป็นเบาหวาน ก็ไม่น่าจะต้องการน้ำตาลเท่ากัน
ดังนั้นแต่ละคนต้องเอาข้อมูลส่วนตัวของตัวเองมาพิจารณาด้วยนะครับ ไม่ใช่เชื่อคนอื่นเสียทั้งหมดครับ
คุณกินน้ำตาลกันคนละเท่าไร
พอจะมีข้อมูลคร่าวๆ อยู่ในใจแล้วว่าคนเราควรจะบริโภคน้ำตาลกันวันละเท่าไร ถ้าเชื่อตามองค์การอนามัยโลกก็ 6 ช้อนชา ถ้าเอาตามผมก็คำนวนหาจากน้ำหนักของแต่ละคนเอานะครับ
คราวนี้มาดูกันว่าของที่เราเอาเข้าปากในแต่ละวันมีน้ำตาลอยู่กี่ช้อนชา ผมขอหยิบข้อมูลจากเว็บหมอชาวบ้านมาให้ดูกันครับ เห็นแล้วจะตกใจจนตกเก้าอี้ได้เลยครับ มีตัวอย่างเครื่องดื่มทั้งหมด 12 รายการนะครับ (ใครอ่านจากมือถือให้เอานิ้วเลื่อนซ้ายเลื่อนขวาที่ตัวตารางเอานะครับ)
แค่ดื่มน้ำอัดลมกระป๋อง (รสส้ม) ขนาด 325 มล. อย่างเดียว ปริมาณน้ำตาลก็วิ่งเกินเพดานที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้ถึง 67% แล้วครับ ถ้าเอามาจับกับเพดานส่วนตัวของผม ยิ่งวิ่งทะลุปรอทไปไกลโพ้นเลย คนรักสุขภาพบอกฉันไม่กินหรอกน้ำอัดลม ฉันดื่มชาเขียวแทน โศกไม่แพ้กันครับ อัดน้ำตาลไป 10 ช้อนชา (สูตรต้นตำรับเสียด้วยครับ)
เพื่อนอีกคนแอบอยู่ข้างหลังตะโกนขึ้นมา ของฉันน้ำอัดลมไม่เอา ชาเขียวสูตรไหนก็ไม่เอา ดื่มแต่น้ำผลไม้ (ย่ะ)
เศร้าไม่แพ้กันหรอกครับ โดนไปอีก 7 ช้อนชา
นี่นับแต่ละตัวแยกกันนะครับ ถ้าคนไหนทั้งดื่มน้ำอัดลม ซัดกาแฟเย็น ไปต่อโอเลี้ยง ปิดท้ายด้วยเครื่องดื่มชูกำลังในวันเดียวกัน โอ้ยไม่อยากจะนึก…บวกตัวเลขกันไม่ทันกันเลยละครับ
ลองข้ามฝากไปดูขนมหวานกันบ้างครับ อีก 12 รายการเช่นกันครับ (ใครอ่านจากมือถือให้เอานิ้วเลื่อนซ้ายเลื่อนขวาที่ตัวตารางเอานะครับ)
ขนมหวานก็หวานสมชื่อนะครับ กล้วยบวชชีของโปรดของผมโดนไป 7-8 ช้อนชา
ยังไม่หมดนะครับ น้ำตาลจากข้าว ก๋วยเตี๋ยว ผัก ผลไม้ ไอศกรีม และสารพัดอย่างที่ผ่านปากของเราในแต่ละวัน ยังไม่ได้เอามาคิดรวม
เห็นหรือยังครับ ว่าคนไทย (จำนวนหนึ่ง) บริโภคน้ำตาลกันดุจริงๆ ที่เขาบอกว่าโรคภัยเข้าทางปากนี่เรื่องจริงเลย แล้วใครพาเข้าละถ้าไม่ใช่ตัวเราเอง !!
คุณและโทษของน้ำตาล
ร่างกายเราขาดน้ำตาลไม่ได้เลยครับ ขาดน้ำตาลในกระแสเลือดเมื่อไร สมองเราจะหยุดทำงานทันที และเราจะตายในไม่ช้าครับ
ตำราแพทย์แผนไทยของเราก็ใช้ “น้ำตาลกรวด” หรือ “น้ำตาลทราย” เป็นธาตุวัตถุในการชูกำลัง แก้คอแห้ง และทำให้เนื้อหนังชุ่มชื่นครับ น้ำตาลจำเป็นต่อร่างกาย เจ็บไข้น้ำตาลก็ช่วยได้ … เพียงแต่ร่างกายเราต้องการใช้น้อยไงครับถ้าเราบริโภคน้ำตาลมากเกินความพอดี จาก “ให้คุณ” จะเปลี่ยนเป็น “ให้โทษ” แทน และเป็นโทษที่หนักมากจริงๆ ครับ
โดยโทษจากน้ำตาลจะมาใน 2 รูปแบบครับ
หนึ่ง : น้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มอย่างพรวดพราด ซึ่งผมขอเรียกมันว่า “สึนามิน้ำตาล” ละกันนะครับ
เอาที่ผมให้ทดไว้ในใจมาใช้ได้แล้วครับ
ทุกคนจำได้นะครับว่าร่างกายเราจะเอาเฉพาะน้ำตาล Glucose ไปใช้ได้เท่านั้น ถ้าทานข้าว ทานขนมปัง มันเป็นน้ำตาลเชิงซ้อน กว่าจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเชิงเดี่ยวได้ก็ใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมง น้ำตาลในกระแสเลือดก็จะค่อยๆเพิ่มครับ แต่ถ้าเป็นพวกน้ำอัดลม ชาเขียว หรือน้ำผลไม้ พวกนี้ความหวานส่วนใหญ่มาจากกลุ่มน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว-คู่อยู่แล้ว ใช้เวลาเปลี่ยนเป็น Glucose ไม่นาน ถ้าเราซัดเครื่องดื่มที่ว่าพรวดๆ ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดจะเพิ่มขึ้นแบบสึนามิในระยะเวลาไม่นาน
น้ำตาลที่เกินพอดีมันเป็นพิษกับร่างกายครับ ร่างกายต้องพยายามทุกวิถีทางในการเร่งลดระดับน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นแบบพรวดพราดให้ได้
บ่อยเข้า ๆ สุดท้ายจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือ “Hypoglycemia” ได้ครับ งงซิ…บริโภคน้ำตาลมากสุดท้ายกลายเป็นคนมีน้ำตาลในเลือดต่ำ
แต่นี่คือเรื่องจริงครับ !!
สอง : น้ำตาลในกระแสเลือดมากกว่าที่ร่างกายต้องการใช้
ความเป็นพิษของการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงในแบบที่สองมีมากมาย
โรคอ้วนนั่นก็ใช่
โรคเบาหวาน
โรคความดันโลหิตสูง
โรคระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
โรคมะเร็งต่างๆหลายชนิด
โรคกระดูพรุน
โรคพวกนี้ก็ใช่ทั้งหมดครับ
เป็นการเจ็บป่วยที่มีจุดเริ่มต้นจากการบริโภคน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกายทั้งสิ้น
ผมไปไล่อ่านงานวิจัยของต่างประเทศ มีประเด็นหนึ่งน่าสนใจครับ ปี 1973 “Loma Linda” ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การบริโภคน้ำตาล 100 กรัม ทำให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวลดประสิทธิภาพไปถึง 40% รวมทั้งกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้นิ่งไปถึง 5 ชั่วโมงเลยทีเดียวครับ
งานวิจัยคล้ายๆ กันอีกชิ้นหนึ่งระบุว่าขนมหวานชิ้นใหญ่ 1 ชิ้น กดการทำงานของเม็ดเลือดขาวประมาณ 50-94% นานถึง 5-8 ชั่วโมง
เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่กลืนกินเชื้อโรคไล่จับแบคทีเรีย เหมือนแมวไล่จับหนู เมื่อไม่มีเม็ดเลือดขาวเป็นทหารคอยยืนถือปืนป้องกันอาณาเขตให้อยู่ ศัตรูร้ายสารพัดโรคก็พร้อมจู่โจมร่างกายของเราตลอดเวลา
ลองนึกภาพตามซิครับเราจะเจ็บป่วยง่ายขนาดไหน ถ้าภูมิคุ้มกันของเราทำงานได้ไม่เต็มที่
อีกสักประเด็นครับ เรื่องนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ครับ
น้ำตาลมันเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งครับ ฝรั่งเรียก “morphine-like chemical”
ผมขอย่อยงานวิจัยของฝรั่งมาให้ดู 3-4 ครับ
- น้ำตาลช่วยกระตุ้นสมองส่วนการให้รางวัลลักษณะเดียวกับที่สารเสพติดอื่นๆทำ (กระตุ้นสารโดพามีน)
- คนและหนูทดลองมีอาการดื้อน้ำตาลเหมือนกัน ต้องบริโภคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงจะพอใจ
- อาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง ๆ จะกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยออปิออยด์ (Opioids) ในสมองคล้ายการทำงานของเฮโรอีน กัญชา และมอร์ฟีน
- คนอ้วนยังคงกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง ๆ อาหารขยะทั้งที่สังคมและคนรอบข้างบอกปาว ๆ ว่าน้ำตาลไม่ดีต่อสุขภาพ
เห็นโทษของน้ำตาลกันไหมครับ ?
“หวานซ่อนพิษ” !!
ควรดูแลตัวเองยังไง ?
ผมคิดว่าทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้รู้ดีอยู่แล้วว่าควรดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยที่เกิดจากน้ำตาลยังไงดี ผมไม่จำเป็นต้องให้คำแนะนำอะไรมากมาย อย่างไรก็ดี ผมมี 3-4 เรื่องที่อยากจะฝากส่งท้ายครับ
หนึ่ง : ระวังติดกับดักน้ำตาล
น้ำผลไม้ ดูเหมือนดีต่อสุขภาพ น้ำตาลทั้งนั้นครับ น้ำตาลออแกนิกส์ ชื่อฟังดูน่าปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ แถมอินเทรนด์สุดๆ มันก็น้ำตาลคือกันครับ พวกนี้ทำตลาดโดยเลี่ยงบาลี คนจำนวนไม่น้อยนึกว่าดี ปลอดภัย บริโภคกันยกใหญ่เลย
ระวังกันนิดนะครับ อันตรายที่แฝงมากับคำว่าออแกนิกส์ / อาหารสุขภาพ / สูตรต้นตำรับ / สูตรไม่หวาน
บอกได้คำเดียวครับ…… “เพียบ”
สอง : ควรบริโภคน้ำตาลวันละเท่าไร
ผมยึดหลักเลี่ยงได้เป็นเลี่ยงครับ ทานให้น้อยที่สุด อะไรตัดได้ตัดเลยครับ พวกนี้ผมตัดหมด กาแฟเย็น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ โอเลี้ยง ชาเย็น ชาดำเย็น และไอศกรีม พวกนี้อันตรายสุดๆ ครับ ลองเข้าไปอ่านงานวิจัยชิ้นดูเอาครับ [ ปริมาณน้ำตาล 5 เครื่องดื่มยอดฮิต ]
พวกเบเกอรี่เหมือนกันนะครับ ไปยืนต่อคิวยาวๆรอรับน้ำตาลกันทำไมครับ (แถมโค-ตะ-ระ แพง)
พวกข้าวหรือก๋วยเตี๋ยวก็ควรทานลดลงเรื่อยๆ ตามอายุนะครับ ยิ่งอายุเยอะๆ ขึ้น ทานข้าว / ขนมปัง / เส้นก๋วยเตี๋ยวให้น้อยลงครับ
จะปรุงรสอะไร ไม่ต้องใส่น้ำตาลลงไปเพิ่มหรอกครับ
พยายามทานผักและผลไม้ให้มากเข้าไว้ (แต่ก็ต้องให้เหมาะกับแต่ละบุคคลด้วย เช่น คนป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็ไม่ควรทานมาก) แค่ผักผลไม้ก็มีน้ำตาลเพียงพอกับที่ร่างกายใช้ในแต่ละวันแล้วครับ
สาม : บริโภคผลไม้เยอะๆแทนได้ไหม
เดินทางสายกลาง ทานแต่พอดีครับ น้ำตาลธรรมชาติถ้ากินมาก ก็อันตรายได้เหมือนกันครับ กล้วยสุก มะม่วงสุกพวกนี้น้ำตาลสูงทั้งนั้นครับ เอาไว้วันข้างหน้าจะเขียนเกี่ยวกับน้ำตาลในผักผลไม้อีกสักเรื่องครับ
สี่ : หาความสุขบ้างไม่ได้เลยหรือ
ได้ซิครับ วันไหนนึกครึ้มอยากดื่มน้ำอัดลม ก็ดื่มได้เลยครับ เพียงแต่ต้องมีสติ รู้ว่ามันอันตราย ต้องไม่ดื่มบ่อย หรือซื้อมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องดื่มให้มันหมด เอาแค่พอรู้รสก็พอครับ วันไหนทานของที่มีน้ำตาลเยอะ ก็ต้องออกกำลังกายให้เยอะ ต้องขยับตัวให้เยอะ อันนี้เรียกว่ามีสติคุม มีสติคุมปากเราให้อยู่ สุขภาพก็ดีขึ้นโขแล้วครับ
สรุป
ขอบคุณทุกๆคนที่ตั้งใจอ่านมาจนจบครับ ผมใช้เวลาค่อนข้างนานในการเขียนบทความนี้ เป็นบทความที่ค่อนข้างยาว ตัดทอนไม่ได้เลย เพราะผมอยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึงพิษภัยของน้ำตาล (การบริโภคเกินความพอดี) จริง ๆ ครับ
มาเป็นคน “อ่อนหวาน” กันเถอะครับ
อยากให้คนที่เรารักไม่เจ็บไม่ป่วยจากการบริโภคน้ำตาลเกินความพอดี ก็ฝากแชร์บทความนี้ไปให้เขาอ่านกันด้วยนะครับ และอย่าลืมช่วยกันบอกลูกบอกหลานของพวกเรากันด้วยครับเพราะเด็กไทยวัยรุ่นไทยกำลังเป็นโรคอ้วนและโรคอื่นเพิ่มมากขึ้น
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาลจากผลิตภัณฑ์อาหาร ขนมและเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ถึงวันละ 88 กรัม (22 ช้อนชา) หรือเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า ซึ่งมากเกินความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคร้ายจากการบริโภคน้ำตาลมากที่สุด
มาทำบุญร่วมกัน…ชวนให้คนไทยกลับมาเป็น “คนอ่อนหวาน” เหมือนเดิมกันเถอะครับ
ช่วยคนให้หายเจ็บหายป่วยได้น่าจะเป็นบุญใหญ่เอาการเลยนะครับ