แคลเซียม คือธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช แต่หากดินมีแคลเซียมอยู่ในปริมาณที่สูงเกินไป ก็อาจจะเป็นโทษต่อพืช พืชจะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ผลผลิตลดลง
ผู้บริหารไอฟาร์ม
ใช้เวลาอ่านประมาณ: 5 นาที
Quick Navigation
เรื่องหนึ่งที่คนทำเกษตรส่วนใหญ่คุ้นกันเป็นอย่างดี แต่ถ้าเรียกชื่ออย่างเป็นทางการขึ้นมา หลายคนก็อาจจะหน้าตา “เหลอหลา” พร้อมกับมี “เครื่องหมายคำถาม” โผล่ขึ้นมาในหัวเต็มไปหมด
เรื่องที่ผมกำลังหมายถึงก็คือ “แคลเซียม” ครับ
ผมยังไม่เฉลยตอนนี้ว่าทำไมผมถึงบอกว่าทุกคนน่าจะคุ้นเคยและสนิทสนมกับเจ้าแคลเซียมราวเพื่อนสนิท ค่อย ๆ อ่านไปนะครับ เดี๋ยวจะถึงบางอ้อ แต่บอกก่อนว่าบทความนี้ยาวระดับมหากาพย์ มีไว้เฉพาะคนที่อ่านหนังสือเกิน 8 บรรทัดเท่านั้นครับ (หยอก ๆ) ผมจะร่ายยาวตั้งแต่แคลเซียมคืออะไร มีกี่ชนิด มีประโยชน์และโทษยังไง แนวทางในการแก้ไข พร้อมกรณีศึกษาที่ผมได้มาสด ๆ ร้อน ๆ ระหว่างที่กำลังทำร่างบทความนี้อยู่พอดีเลยครับ … ช่วยเติมเต็มบทความของผมได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญน่าจะทำให้สมาชิก IFARM ได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้นด้วยครับ
ถ้าพร้อมแล้ว มาลุยกันเลยครับ
1. ชนิดของแคลเซียมในดิน
แคลเซียม (Ca) เป็นธาตุที่มีอยู่ในดิน และเป็นธาตุอาหาร (ธาตุรอง) ที่จำเป็นสำหรับพืช พืชต้องการไม่มากแต่ก็ขาดไม่ได้ครับ แม้แคลเซียมจะมีประโยชน์กับพืชมากมาย แต่แคลเซียมก็เป็นอันตรายกับพืชได้เช่นกันหากดินมีแคลเซียมสูงเกินไป
แคลเซียมในดินมักมาจากสลายตัวของหินแร่ สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดตามรูปแบบที่พบในดิน โดยแต่ละชนิดมีบทบาทที่แตกต่างกันในกระบวนการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืช มาดูกันครับว่ามี แคลเซียม ในดินกี่ชนิดและแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะตัวอย่างไร
1.1 แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ (Exchangeable Calcium)
- เป็น แคลเซียมไอออน (Ca²⁺) ที่ยึดอยู่กับพื้นผิวของอนุภาคดิน เช่น ดินเหนียวและอินทรียวัตถุ แคลเซียมชนิดนี้สามารถแลกเปลี่ยนกับไอออนอื่นในสารละลายดินได้
- พืชสามารถดูดซึมแคลเซียมชนิดนี้ไปใช้ได้ง่าย เนื่องจากแคลเซียมไอออนนี้สามารถเข้าสู่สารละลายดินและถูกดูดซึมผ่านรากพืช
- การวัด แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่าดินมีแคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการของพืช หรือมากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อพืชหรือไม่
1.2 แคลเซียมในสารละลายดิน (Calcium in Soil Solution)
- แคลเซียมชนิดนี้เป็นแคลเซียมที่อยู่ในรูปของไอออน (Ca²⁺) ที่ละลายในน้ำในดิน (สารละลายดิน) เป็นแหล่งแคลเซียมที่ พืชสามารถดูดซึมได้โดยตรง
- ปริมาณแคลเซียมในสารละลายดินจะเปลี่ยนแปลงตามปริมาณน้ำและการใส่ปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดิน
- แคลเซียมในสารละลายดินมักมีปริมาณน้อยกว่าชนิดที่แลกเปลี่ยนได้ แต่เป็นแหล่งแคลเซียมที่พืชดูดซึมได้ทันที
1.3 แคลเซียมในรูปของสารประกอบแร่ (Mineral Calcium)
- แคลเซียมที่พบในดินในรูปของ สารประกอบแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) หรือ แคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงดิน
- แคลเซียมจากสารประกอบเหล่านี้จะ ปล่อยออกมาอย่างช้าๆ เมื่อเกิดการละลายหรือการสลายตัวของแร่ธาตุในดิน ทำให้เป็นแหล่งแคลเซียมระยะยาว แต่ไม่สามารถดูดซึมได้ทันที
- แคลเซียมคาร์บอเนตมักพบในดินที่มีค่า pH สูง (ดินด่าง) และอาจทำให้เกิดปัญหาการดูดซึมธาตุอาหารบางชนิดของพืช
1.4 แคลเซียมที่ถูกยึดแน่นกับอนุภาคดิน (Fixed Calcium)
- เป็นแคลเซียมที่ถูกยึดติดแน่นกับอนุภาคดินหรือโครงสร้างของแร่ธาตุในดิน ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือถูกดูดซึมโดยพืชได้ง่าย
- แคลเซียมชนิดนี้จะถูกปลดปล่อยออกมาช้ามากและไม่ได้มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของพืชในระยะสั้น
หลังจากทราบชนิดของแคลเซียมกันไปแล้ว ผมจะขออธิบายความสัมพันธ์ของแคลเซียมทั้ง 4 ชนิดพร้อมกับเฉลยว่าทำไมผมถึงบอกว่า “แคลเซียม” คือคนเคย ๆ ของหลายคน
- พืชจะดูดแคลเซียมจากแคลเซียมในสารละลายดิน (Calcium in Soil Solution) ก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากแคลเซียมในสารละลายดินเป็นแคลเซียมไอออน (Ca²⁺) ที่ ละลายน้ำ และ อยู่ในรูปที่รากพืชสามารถดูดซึมได้ทันที
- แคลเซียมในสารละลายดินมีปริมาณน้อย และไม่เสถียร เมือถูกพืชใช้หมดไป แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ซึ่งเป็นแหล่งสำรองของแคลเซียมจะถูกปลดปล่อยออกมามาแทนที่ในสารละลายดินเพื่อรักษาสมดุลของแคลเซียมในดิน
- แคลเซียมในรูปของสารประกอบแร่คือแหล่งสำคัญของ แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ และ แคลเซียมในสารละลายดิน เมื่อสารประกอบแร่ละลายหรือสลายตัว แคลเซียมไอออน (Ca²⁺) จะถูกปล่อยออกมาและเข้าสู่สารละลายดิน จากนั้นบางส่วนจะไปสะสมเป็นแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้บนอนุภาคดิน
- แคลเซียมในรูปสารประกอบแร่มีอยู่ 2 ชนิดหลัก ๆ คือ หนึ่ง) แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) และสอง) แคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄) … ตัวแรกมีชื่อเล่นว่า “ปูนขาว” ส่วนตัวหลังชื่อ “ยิปซั่ม” นั่นเองครับ … คุ้นไหมครับ ???
- เวลาที่นำดินไปวิเคราะห์ เขาจะวิเคราะห์จากแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ครับ ไม่ได้วิเคราะห์จากแคลเซียมในสารละลายดิน สาเหตุเป็นเพราะแคลเซียมในสารละลายดินมีปริมาณน้อยและไม่เสถียรครับ
- ถ้าผลวิเคราะห์ดินบอกว่าดินในสวนในไร่ของเราสูง จะเกิดปัญหาตามมา แต่ปัญหาอะไรไม่รู้ จนกว่าเราจะฟันธงได้ว่าแคลเซียมสูงมาจากแคลเซียมในรูปของสารประกอบตัวไหน ระหว่างแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) หรือแคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄)
- แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) และแคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄) สร้างปัญหาให้ดิน พืช และจุลินทรีย์ไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าไม่รู้ว่าผลกระทบมาจากตัวไหน ก็อาจแก้ปัญหาผิดทิศผิดทางได้
- ตัวที่ผมไม่ได้เขียนถึงเท่าไรก็คือ แคลเซียมที่ถูกยึดแน่น (Fixed Calcium) เพราะไม่สามารถเคลื่อนที่หรือละลายได้ง่าย ๆ (เมื่อสลายตัวจะกลายเป็นแหล่งของ แคลเซียมในรูปของสารประกอบแร่ ซึ่งอาจละลายเข้าสู่สารละลายดินในระยะยาว) เราแค่รู้ไว้เฉย ๆ ก็พอครับ
2. ประโยชน์ของแคลเซียมต่อพืช
อย่างที่ทราบไปก่อนหน้านี้ว่าแคลเซียมเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช แม้พืชจะต้องการแคลเซียมไม่มากเท่ากับธาตุอาหารหลัก คือ N P K แต่แคลเซียมก็มีผลต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืชไม่น้อยกว่าธาตุอาหารตัวอื่น ๆ ครับ
มาดูกันครับว่าทำไมพืชถึงขาดแคลเซียมไม่ได้
- สร้างความแข็งแรงให้กับเซลล์พืช: แคลเซียมช่วยเสริมสร้างและรักษาความแข็งแรงของผนังเซลล์ ทำให้พืชทนต่อโรคและความเครียดจากสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น
- การเจริญเติบโตของราก: แคลเซียมมีความสำคัญต่อการพัฒนาของราก ช่วยให้รากเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พืชสามารถดูดซึมธาตุอาหารและน้ำได้ดีขึ้น
- ช่วยในการแบ่งเซลล์และขยายตัวของเซลล์: แคลเซียมเป็นตัวช่วยในกระบวนการแบ่งและขยายเซลล์ในพืช ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช
- ปรับปรุงโครงสร้างดิน: แคลเซียมช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ทำให้ดินมีความร่วนซุยและการระบายน้ำดีขึ้น
โดยแคลเซียมในดินจะอยู่ในรูปของแร่ธาตุที่ละลายได้น้อย แต่มีความสำคัญต่อการทำงานของเซลล์พืชและโครงสร้างดิน โดยทั่วไปพบในรูปแบบของแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) และแคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄·2H₂O)
แม้แคลเซียมจะมีประโยชน์ต่อดิน จุลินทรีย์ และพืช แต่ก็ต้องมีปริมาณที่พอเหมาะ หากดินมีแคลเซียมสูงเกินไป ก็จะส่งผลกระทบด้านลบจนสร้างความเสียหายให้ดินและพืชแบบคาดไม่ถึงได้ครับ
3. สาเหตุของดินที่มีแคลเซียมสูง
ต้นตอของปัญหาดินมีแคลเซียมสูงมาจาก 2 เรื่องหลัก ๆ ครับ
สาเหตุจากธรรมชาติ
- หินและแร่ธาตุในพื้นที่: ดินที่มีแคลเซียมสูงมักเกิดจากการสลายตัวของหินปูนหรือยิปซัมที่อยู่ในบริเวณนั้น
- น้ำบาดาลที่มีแคลเซียมสูง: การใช้แหล่งน้ำบาดาลที่มีแคลเซียมและแมกนีเซียมสูงในการรดน้ำอาจเพิ่มปริมาณแคลเซียมในดิน
สาเหตุจากการกระทำของมนุษย์
- การใส่ปูนขาวหรือสารปรับปรุงดินอย่างไม่เหมาะสม: การใช้ปูนขาว (Lime) หรือปูนโดโลไมต์ (Dolomite) เพื่อปรับปรุงสภาพดินอาจทำให้ปริมาณแคลเซียมในดินสูงเกินไปหากใช้มากเกินจำเป็น
- การใช้ปุ๋ยเคมี: ปุ๋ยบางชนิด เช่น แคลเซียมไนเตรต (Calcium nitrate) อาจเพิ่มแคลเซียมในดินจนเกินความจำเป็น
เรื่องที่อยากจะสะกิดซ้ำก็คือ คนทำเกษตรหลายคนมอง “ปูนขาว“ เป็น “ยาครอบจักรวาล” มีปัญหาอะไร คิดไม่ออก แก้ไม่ได้ ก็ใส่ปูนขาวลงไปก่อน อันนี้อันตรายมากนะครับ ผมเคยเขียนเตือนเรื่องนี้ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว มีเวลาว่าง ๆ ก็ลองอ่านกันได้ครับ
4. ค่ามาตรฐานแคลเซียม
แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃)
แคลเซียมคาร์บอเนตในดินมักพบในพื้นที่ที่มีหินปูน (limestone) หรือในดินที่มีความเป็นด่าง หากมีปริมาณมากเกินไป จะทำให้ค่า pH ของดินสูงและขัดขวางการดูดซึมธาตุอาหารของพืช
- ดินที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตต่ำ (<1%): พืชยังคงเติบโตได้ดี ค่า pH ของดินอยู่ในระดับปานกลางหรือค่อนไปทางกรดเล็กน้อย
- แคลเซียมคาร์บอเนตในดิน 1-5% (10000-50000 mg/kg): ถือว่าเป็นปริมาณปกติที่พอเหมาะในดินสำหรับพืชทั่วไป การเจริญเติบโตของพืชจะไม่ได้รับผลกระทบในเชิงลบมากนัก
แคลเซียมคาร์บอเนต - มากกว่า 5% (>50000 mg/kg): จะทำให้ดินมีความเป็นด่างสูง (pH > 7.5) ซึ่งจะส่งผลต่อการละลายธาตุอาหาร เช่น ฟอสฟอรัส (P), เหล็ก (Fe), และสังกะสี (Zn) พืชจะดูดซึมธาตุเหล่านี้ได้ยาก
แคลเซียมซัลเฟต (CaSO4)
แคลเซียมซัลเฟต หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ยิปซัม มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงดินที่มีโซเดียมสูง (ดินโซดิก) และช่วยปรับโครงสร้างดิน แต่หากสะสมมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดความเค็มจากซัลเฟตในดิน
- แคลเซียมซัลเฟตต่ำกว่า 1000 mg/kg (1 g/kg): ไม่มีผลกระทบต่อความเค็มของดิน เป็นปริมาณที่ปลอดภัยและไม่ก่อปัญหากับพืช
- แคลเซียมซัลเฟต 1000-5000 mg/kg (1-5 g/kg): อยู่ในช่วงที่ปกติ ดินสามารถรองรับได้ดี และไม่ทำให้เกิดปัญหาความเค็มในดิน
- แคลเซียมซัลเฟต 5000-10000 mg/kg (5-10 g/kg): ระดับนี้เริ่มสะสมในดินในปริมาณที่สูง อาจทำให้เกิดความเค็มในดินได้ หากมีปัจจัยเสริม เช่น การระบายน้ำไม่ดี
- แคลเซียมซัลเฟตมากกว่า 10000 mg/kg (>10 g/kg): ถือว่าสูงเกินไปและมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความเค็ม (Salinity) ในดิน ซึ่งจะขัดขวางการดูดซึมน้ำของพืชและทำให้ดินแข็ง
5. แคลเซียมคาร์บอเนต Vs. แคลเซียมซัลเฟต
เนื่องจากแคลเซียมในดินมี 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) หรือปูนขาว และแคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄·2H₂O) หรือยิปซั่ม หากดินในสวนของคุณมีปัญหาแคมเซียมสูง จำเป็นต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าต้นตอของปัญหาเกิดจากแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) และแคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄·2H₂O) กันแน่
ต่อไปนี้เป็นวิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างแคลเซียมทั้ง 2 ชนิดแบบง่าย ๆ ครับ
จุดสังเกต | แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) | แคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄·2H₂O) |
---|---|---|
1. ค่า pH ของดิน | ค่า pH จะสูงขึ้นมาก (มากกว่า 7.5) เนื่องจากแคลเซียมคาร์บอเนตทำให้ดินเป็นด่าง | ค่า pH มักไม่เปลี่ยนแปลงมาก (ใกล้เคียงค่าปกติ 6.0-7.0) เนื่องจากแคลเซียมซัลเฟตมีฤทธิ์เป็นกลาง |
2. ความแข็งของดิน | ดินมีแนวโน้มแข็งตัวและจับตัวเป็นก้อน ทำให้การระบายน้ำไม่ดี รากพืชขยายตัวได้ยาก | ดินอาจมีโครงสร้างดีขึ้นในช่วงแรก แต่ถ้าแคลเซียมซัลเฟตสะสมมากเกินไป จะเกิดการสะสมเกลือในดิน ทำให้ดินแข็งในระยะยาว |
3. การขาดธาตุอาหาร | การดูดซึมของธาตุอาหารรอง เช่น ฟอสฟอรัส (P), เหล็ก (Fe), แมงกานีส (Mn) จะลดลง ทำให้พืชขาดธาตุอาหาร แม้จะใส่ปุ๋ยเพิ่มก็ตาม | ซัลเฟตที่มากเกินไปจะขัดขวางการดูดซึมของ ฟอสฟอรัส (P) และอาจทำให้พืชแสดงอาการขาดธาตุอาหารบางชนิดได้ |
4. ค่านำไฟฟ้า (EC) | ค่า EC ของดินมักไม่สูงมาก เพราะแคลเซียมคาร์บอเนตละลายน้ำได้ยาก | ค่า EC มักจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากแคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄·2H₂O) ละลายน้ำได้ง่ายและปล่อยซัลเฟตซึ่งทำให้เกิดการสะสมเกลือในดิน |
5. อาการของพืช | พืชอาจแสดงอาการ ใบเหลือง (Chlorosis) เนื่องจากขาดธาตุเหล็ก (Fe) ซึ่งมักเกิดกับใบอ่อนและเริ่มที่ขอบใบ และรากพืชมีลักษณะผิดปกติ เช่น สั้น หงิกงอ | พืชอาจแสดงอาการ ใบไหม้ (Leaf Burn) หรือใบแห้งบริเวณขอบใบและปลายใบ เนื่องจากความเค็มที่เกิดจากการสะสมซัลเฟต รวมทั้งใบพืชอาจแสดงอาการขาดฟอสฟอรัส |
6. การเจริญเติบโตของพืช | การเจริญเติบโตของพืชชะงักงัน | การเจริญเติบโตของพืชไม่สม่ำเสมอ |
7. ความยากลำบากในการปลูกพืช | พืชที่ไม่ทนด่าง เช่น ข้าวโพด ถั่ว จะเติบโตได้ยากในดินที่มี CaCO₃ สูง | พืชที่ไม่ทนเค็ม เช่น ผักกาด หรือพืชบางชนิดจะเริ่มแสดงอาการเครียดจากความเค็ม |
8. การทดสอบดินง่าย ๆ | เมื่อทดสอบดินด้วยกรด (เช่น น้ำส้มสายชู) จะเกิดฟองแก๊ส CO₂ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของ CaCO₃ | ไม่เกิดฟองแก๊สเมื่อทดสอบดินด้วยกรด แต่จะเห็นผลในค่า EC ที่สูงขึ้นในดินที่มี CaSO₄ สะสม |
9. การสะสมเกลือบนผิวดิน | ไม่พบการสะสมเกลือบนผิวดินจากแคลเซียมคาร์บอเนต | เมื่อแคลเซียมซัลเฟตสูงมาก เกลือจะสะสมบนผิวดินในรูปของคราบสีขาว ซึ่งส่งผลให้พืชดูดซึมน้ำได้ยาก |
6. ประโยชน์และผลกระทบ
แคลเซียมทั้ง 2 ตัวมีประโยชน์และการใช้งานที่แตกต่างกัน ประโยชน์ที่คุ้นเคยกันดี ก็คือ ปูนขาว เอาไว้แก้ปัญหาดินเป็นกรด ส่วนยิปซั่มก็เอาแก้เรื่องดินเป็นด่าง แต่จริง ๆ แล้วแคลเซียมยังมีประโยชน์กว่านี้เยอะครับ แต่เหรียญมี 2 ด้านครับ ถ้าในดินมีแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) และแคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄·2H₂O) ปนอยู่เกินลิมิต แล้วเราไม่รู้ โอกาสผลผลิตไม่เข้าเป้าสูงมากครับ
ดังนั้นเราต้องมาทำความเข้าใจกันครับว่าการวัดค่าแคลเซียมทั้ง 2 ชนิด จะได้วิเคราะห์ได้ถูกต้องว่าดินของเรามีแคลเซียมสูงหรือไม่
แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃)
ประเด็น | ประโยชน์ | ผลกระทบ |
---|---|---|
การปรับค่า pH | เพิ่มความเป็นด่างของดิน (ค่า pH ดินสูงขึ้น) เหมาะสมสำหรับพืชที่ชอบค่า pH ปานกลางถึงด่าง (เช่น ถั่ว, ข้าวสาลี) | หากมีปริมาณมากเกินไป ค่า pH อาจสูงกว่า 7.5 ทำให้ดินเป็นด่าง และพืชดูดซึมธาตุอาหารบางชนิด เช่น ฟอสฟอรัส (P), เหล็ก (Fe), แมงกานีส (Mn) และสังกะสี (Zn) ได้น้อยลง
|
โครงสร้างดิน | ช่วยให้อนุภาคดินจับตัวกันดีขึ้น ทำให้ดินร่วนซุยและระบายน้ำได้ดีขึ้น | หากมีมากเกินไป ดินอาจแข็งตัว โดยเฉพาะดินเหนียว ทำให้การซึมผ่านของน้ำและการเจริญเติบโตของรากพืชลดลง |
การลดความเป็นพิษของธาตุบางชนิด | ลดความเป็นพิษของธาตุเหล็ก (Fe) และอะลูมิเนียม (Al) ในดินกรด | ในดินที่ค่า pH สูงเกินไป อาจทำให้สารประกอบเกลือบางชนิดจับตัวกันและกลายเป็นพิษต่อพืช |
ความพร้อมของธาตุอาหาร | เพิ่มความพร้อมของแคลเซียม (Ca) ให้พืชดูดซึม แคลเซียมเป็นส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของรากและผนังเซลล์พืช | แคลเซียมที่มากเกินไปสามารถขัดขวางการดูดซึมของธาตุอาหารอื่น เช่น แมกนีเซียม (Mg) และโพแทสเซียม (K) ทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล่านี้ |
ผลกระทบต่อจุลินทรีย์ | ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับจุลินทรีย์ที่เจริญเติบโตในดินเป็นกลางหรือด่างเล็กน้อย | ค่า pH ที่สูงเกินไป (มากกว่า 7.5) อาจลดความหลากหลายของจุลินทรีย์ที่ทำงานได้ดีในดินกรดอ่อน ทำให้การย่อยสลายอินทรียวัตถุและการหมุนเวียนธาตุอาหารลดลง |
แคลเซียมซัลเฟต (CaSO4)
ประเด็น | ประโยชน์ | ผลกระทบ |
---|---|---|
ผลกระทบค่า pH | ไม่เปลี่ยนแปลงค่า pH มาก ช่วยปรับโครงสร้างดินโดยไม่ทำให้ดินเป็นกรดหรือด่าง | หากมีมากเกินไปจะเพิ่มปริมาณซัลเฟตในดิน ทำให้เกิดปัญหาดินเค็มหรือน้ำเค็มจากการสะสมเกลือ |
โครงสร้างดิน | ช่วยลดความแน่นของดิน เพิ่มการซึมผ่านของน้ำในดินเหนียวและดินโซดิก (ดินโซเดียมสูง) | ปริมาณแคลเซียมซัลเฟตที่สูงเกินไปสามารถทำให้ดินสะสมเกลือ (Salinity) ซึ่งทำให้พืชดูดซึมน้ำยาก |
ความพร้อมของธาตุอาหาร | ให้แคลเซียม (Ca) และซัลเฟอร์ (S) ซึ่งเป็นธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช | ซัลเฟตในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการตกตะกอนของธาตุอาหารบางชนิด เช่น ฟอสฟอรัส (P) ทำให้พืชดูดซึมได้ยาก |
การลดโซเดียมในดิน | ช่วยแทนที่โซเดียม (Na) ในดิน ทำให้ลดความเค็มจากโซเดียม (Sodicity) | หากมีปริมาณมากเกินไปจะทำให้ปริมาณเกลือในดินสูงขึ้น โดยเฉพาะในดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี ทำให้พืชทนเค็มยาก |
ผลกระทบต่อจุลินทรีย์ | ให้ซัลเฟอร์ (S) ที่จำเป็นสำหรับจุลินทรีย์ในดิน ช่วยส่งเสริมการย่อยสลายอินทรียวัตถุ | เกลือที่สูงเกินไปจากแคลเซียมซัลเฟตอาจทำให้จุลินทรีย์ในดินทำงานได้ลดลง โดยเฉพาะในดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี |
กรณีศึกษา : ดินและน้ำในพื้นที่ จ. กาญจนบุรี
จากข้อมูลการวิเคราะห์ดิน – น้ำที่ผมได้รับมา ผมได้ลองนำมาประมวลดังนี้ครับ
ค่าที่วัด | ค่าที่ได้ | ความหมาย |
---|---|---|
ค่า pH (กรดด่าง) | 6.22 pH | ดินเป็นกรดเล็กน้อย อยู่ในเกณฑ์ที่ดี |
ค่า EC (ค่านำไฟฟ้า) | 1.89 dS/m | ดินไม่มีปัญหาความเค็ม (เพิ่มเติมจากผม – ไม่มีปัญหาความเค็มในนิยามของการวัดค่า EC) |
ค่า SOM (อินทรียวัตถุ) | 0.29% | ดินมีปัญหาอินทรียวัตถุต่ำมาก จะส่งผลต่อโครงสร้างดินและการกักเก็บน้ำและธาตุอาหารไม่ดี |
ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (Avail.P) | 85.46 mg/kg | อยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก |
โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ (Exch. K) | 100.62 mg/kg | อยู่ในเกณฑ์ที่สูง |
แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ (Exch. Ca) | 2437.71 mg/kg | อยู่ในเกณฑ์ที่สูง |
แมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ (Exch. Mg) | 128.56 mg/kg | อยู่ในเกณฑ์ที่สูง |
จากตารางจะเห็นค่าแคลเซียมอยู่ที่ 2437.71 mg/kg ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สูง อย่างไรก็ตามครับ เราไม่สามารถใช้ข้อมูลนี้เพียงตัวเดียวในการวิเคราะห์แบบตรง ๆ เพราะค่าของแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ไม่เท่ากับแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) หรือแคลเซียมซัลเฟต (CaSO4) ดังนั้นในการจะสรุปว่าดินที่มีปัญหาแคลเซียมสูงเกิดจากแคลเซียม คาร์บอเนต (CaCO3) หรือแคลเซียมซัลเฟต (CaSO4) กันแน่ เราจำเป็นต้อง 1) รู้และเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างแคลเซียมทั้ง 3 ตัว และ 2) ใช้ค่าอื่น ๆ ในการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งในกรณีคือค่า pH และค่า EC
ค่า pH : จากข้อมูลที่ผมให้ไว้ข้างต้นว่าดินที่มีแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) มักจะมีค่า pH สูงกว่า 7.5 เพราะแคลเซียมคาร์บอเนตทำให้ดินเป็นด่าง (เพิ่มค่า pH) แต่ในเคสนี้ค่า pH อยู่ที่ 6.22 (กรดอ่อน) เท่านั้น ดังนั้นจึงมีโอกาสจะเป็นแคลเซียมซัลเฟตมากกว่าแคลเซียมคาร์บอเนตครับ
ค่านำไฟฟ้า (EC): ค่านำไฟฟ้า หรือ Electrical Conductivity (EC) อยู่ที่ 1.89 dS/m แม้ว่าค่า EC นี้จะไม่สูงมาก แต่ยังคงแสดงให้เห็นว่ามีปริมาณไอออนที่ละลายในดินอยู่บ้าง ซึ่งมักเป็นลักษณะของแคลเซียมซัลเฟต (CaSO4) ที่ละลายน้ำได้ดีกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต จึงทำให้ค่า EC สูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงระดับดินเค็ม
แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้: แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ (Exchangeable Calcium), แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃), และแคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄) เป็นแหล่งของแคลเซียมในดิน แต่พวกมันมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันในแง่ของรูปแบบและการปลดปล่อยแคลเซียมเพื่อให้พืชดูดซึมไปใช้ได้
- แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ คือ แคลเซียม (Ca²⁺) ที่อยู่ในรูปแบบของไอออนที่สามารถถูกปลดปล่อยจากพื้นผิวของอนุภาคดิน (เช่น ดินเหนียวหรืออินทรียวัตถุ) ออกสู่สารละลายดินเพื่อให้พืชดูดซึมได้ เป็นแหล่งที่พืชสามารถดูดซึมได้ทันทีเนื่องจากแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้จะละลายอยู่ในสารละลายดิน
- ปริมาณแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ในดินจะสัมพันธ์กับแหล่งแคลเซียมอื่นๆ เช่น แคลเซียมคาร์บอเนตและแคลเซียมซัลเฟต หากแหล่งแคลเซียมในดินมีมาก แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ก็อาจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- แคลเซียมคาร์บอเนต เป็นสารประกอบแคลเซียมที่ละลายน้ำได้ยาก แคลเซียมจากแคลเซียมคาร์บอเนตจะปล่อยออกมาช้าๆ ในดิน และส่วนใหญ่จะไม่ส่งผลให้เกิดแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้สูงในระยะสั้น ขณะที่แคลเซียมซัลเฟต เป็นสารประกอบแคลเซียมที่ละลายน้ำได้ดี และปล่อยแคลเซียม (Ca²⁺) และซัลเฟต (SO₄²⁻) ออกมาสู่สารละลายดินอย่างรวดเร็วและจะเป็นแหล่งสำคัญของแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ในดิน
- จากคุณสมบัติ ความแตกต่างและความสัมพันธ์ของแคลเซียมทั้ง 3 ชนิด สรุปได้ว่าแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้สูง มีโอกาสที่จะเป็นแคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄) มากกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) ครับ
สรุป : จากการวิเคราะห์ทั้ง 3 ปัจจัย คือ ค่ากรดด่าง (pH), ค่านำไฟฟ้า (EC) และแคลเซียมที่แลกเปลี่ยได้ สรุปได้ว่าปัญหาดินมีแคลเซียมสูงในกรณีที่ จ. กาญจนบุรี มีโอกาสเกิดจากแคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄) หรือยิปซั่มมากกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) หรือปูนขาว ผลที่ตามมาก็คือวิธีในการแก้ปัญหาจะแตกต่างกัน อย่างไรในการวิเคราะห์นี้ไม่สามารถระบุว่าแคลเซียมซัลเฟต (CaSO₄) อยู่ที่เท่าไร หากต้องการทราบค่าที่แท้จริง ควรจะนำดินไปตรวจค่าแคลเซียมคาร์บอเนต หรือแคลเซียมฟอสเฟตโดยตรงอีกครั้ง
Advertising Area | พื้นที่ประชาสัมพันธ์ : ชุดทดสอบค่าอินทรียวัตถุ
วัดค่า pH ดินแม่นยำ คุณภาพจากญี่ปุ่น
จะแก้ปัญหาค่าดินให้ถูกจุด ต้องมั่นใจว่าค่า pH ดินที่วัดได้มีความถูกต้อง ... พบกับ Takemura DM-5 เครื่องวัดค่ากรดด่างและความชื้นดิน แบรนด์ญีุ่ป่น ของแท้ ... คลิกเพื่อรับส่วนลดและของแจกฟรีมากมาย
บทความแนะนำ
-
-5%Add to cartQuick View
-
-5%Add to cartQuick View