ค่า EC ดิน หรือ Electrical Conductivity คือค่านำไฟ้ฟ้าของดิน เป็นค่าดินที่เจ้าของสวนควรให้ความสำคัญเพราะ “ค่า EC ในดิน” สามารถสะท้อนคุณภาพของดินในหลากหลายมิติ เช่น ความพร้อมของธาตุอาหาร ความเค็มของดิน (Salinity) ตลอดจนถึงลักษณะของเนื้อดิน
ผู้บริหารไอฟาร์ม
ใช้เวลาอ่านประมาณ: 4 นาที
Quick Navigation
สมาชิก “ไอฟาร์ม” หลายท่านมีข้อสงสัยว่าถ้าซื้อเครื่องวัดค่า pH ดินไปใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ TAKEMURA หรือ Hanna ยังจำเป็นต้องซื้อเครื่องวัด ค่า EC ดิน เพิ่มอีกไหม ???
คำตอบ คือ “จำเป็น” และ “จำเป็นมาก” ด้วยครับ
ที่ตอบแบบนี้ ไม่ใช่เพราะอยากจะขายของลูกเดียว อย่าเพิ่งเข้าใจผิดครับ ลองดูเหตุผลของผมก่อนครับ ในมุมมองของผม “ค่า EC ดิน” เป็นค่าที่สำคัญมาก ๆ เพราะเป็นตัวสะท้อนถึง “คุณภาพ” ของดินในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปริมาณของธาตุอาหาร ความเค็มของดิน ประเภทของเนื้อดิน (Soil Texture) รวมไปถึงเรื่องกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินอีกด้วยครับ
ผมเคยเขียนเกี่ยวกับ pH ดินอยู่หลายบทความ หลายท่านน่าจะเคยอ่านแล้ว อย่างไรก็ดี ผมขอ Wrap Up สั้น ๆ ตรงนี้อีกครั้ง จะได้เห็นภาพชัดเจนว่าทำไมผมถึงอยากให้สมาชิกทุกท่านได้มี “เครื่องวัดค่า EC ดิน” ไว้ติดสวน / ฟาร์มเพิ่มเติม
การวัดค่า pH ดิน คือการวัด hydrogen ions หรือไฮโดรเจนไอออนในสารละลายดิน ซึ่งโดยปกติไอออนบวกที่แลกเปลี่ยนได้และพบเห็นมากที่สุดในดินมีอยู่ด้วยกัน 6 ชนิด คือ ไฮโดรเจน โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และอะลูมินัม (จริง ๆ มีมากกว่านี้ แต่ปริมาณน้อยมาก) ถ้าจับทั้ง 6 ชนิดมาจัดกลุ่ม จะจัดออกมาหน้าตาแบบนี้ครับ
- ไอออนบวกที่มีปฏิกิริยาเป็นกรด : ไฮโดรเจน อะลูมินัม
- ไอออนบวกที่มีปฏิกิริยาเป็นด่าง : โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม
เมื่อไรที่กลุ่มที่มีปฏิกิริยาเป็นกรดมีปริมาณมากกว่า ดินในสวนของเราจะมีกลายเป็นกรด ถ้าเราเครื่องวัดค่ากรดด่างดินไปวัด ค่า pH จะออกมาต่ำ กลับกันครับ ถ้ากลุ่มที่มีปฏิกิริยาเป็นด่างมีปริมาณมากกว่า ดินจะมีสภาวะเป็นด่าง ค่า pH ที่วัดได้จะมากกว่า 7 pH
แม้ว่าค่า pH ที่ต่ำมากเกินไป หรือสูงมากจนเกินไป จะส่งผลกระทบต่อการนำธาตุอาหารไปใช้ของพืช แต่อย่างไรก็ดี ค่า pH ก็ไม่สามารถบอกเราได้ว่าดินของเรามีธาตุอาหารเพียงพอหรือไม่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ Hydrogen ไม่ใช่ธาตุอาหารนั้นเองครับ
ค่า EC ดิน คืออะไร
ค่า EC ดินคืออะไร
EC หรือ Electrical Conductivity คือความสามารถในการนำไฟฟ้าของดิน ซึ่งเป็นการวัดจากปริมาณไอออนของเกลือที่ละลายน้ำได้ (Water - soluable salts) ที่มีอยู่ในดิน เป็นการวัดความเข้มข้นทั้ง ไอออนบวก (cation) และไอออนลบ (anion) ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไอออนชนิดใดชนิดหนึ่ง หน่วยในการวัดค่า EC ของดินมี 3-4 รูปแบบ แต่สำหรับงานเกษตรมักใช้ milliSiemens per meter (mS/m) หรือ deciSiemens per meter (dS/m) มากที่สุด
หมายเหตุ: เมื่อเรานำเกลือไปละลายในน้ำ (น้ำกลั่น มีค่า EC = 0) เกลือจะแตกตัวแยกเป็น “ไอออนบวก” และ “ไอออนลบ” นั่นทำให้น้ำมีความสามารถในการนำไฟฟ้าขึ้นมาได้
ค่า pH และ EC ดิน
ถ้าเอาข้อมูลทั้งหมดที่ผมอธิบายมาประมวล จะเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างค่า pH และ ค่า EC ดิน ได้อย่างชัดเจน นั่นคือไฮโดรเจนไออน ไม่ว่าจะกลุ่มที่มีปฏิกิริยาเป็นกรด หรือด่างล้วนมีผลกระทบต่อทั้งระดับค่า pH และ ค่านำไฟฟ้าทั้งคู่
แต่อย่างไรก็ดีครับ ไฮโดรเจนไอออน เป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของไอออนทั้งหมดเท่านั้น หมายความว่าค่า pH ที่วัดได้ ไม่สามารถนำมาใช้เป็นคำตอบเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากค่า pH ได้อย่างได้สมบูรณ์ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสัดส่วนของไฮโดรเจนไอออนต่อความเข้มข้นของไอออนอื่น ๆ เป็นสำคัญด้วย
ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องมีเครื่องวัดค่า EC ดิน หากเราต้องการรู้ค่าดินในมิติอื่น ๆ
ค่า EC และความเค็มของดิน
ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของค่า EC ดินคือใช้บอกค่าความเค็มของดิน อย่างที่เราทราบกันดีว่าปัญหาดินเค็มถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับคนทำเกษตรไม่น้อย เพราะความเค็มของดินทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารและการขาดน้ำ ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช รวมทั้งกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดิน ถ้าดินมีปริมาณของเกลือปนอยู่มากจะทำให้พืชเกิดอาการเหี่ยวเฉา ใบไหม้และตายในที่สุดครับ
ดินเค็ม คืออะไร
ดินที่มีเกลือที่ละลายน้ำได้ (โซเดียม) ปนอยู่ในปริมาณที่สูงมาก การวัดค่าความเค็มของดินมีหลายวิธี แต่หนึ่งในวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ การพิจารณาจากค่า EC ของดินครับ ค่า EC ดิน สามารถมาใช้ในการประเมินปริมาณของเกลือ (โซเดียม) และอิทธิพลของเกลือที่อยู่ในดินต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืชได้
จากข้อมูลของ U.S. Soil Salinity มีการจำแนกระดับความเค็มที่มีผลกระทบต่อพืชไว้ 5 ระดับ โดยระดับความเค็มที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช และกิจกรรมของจุลินทรีย์ มีค่าการนำไฟฟ้า หรือ Electrical Conductivity (EC) ตั้งแต่ 4 dS/m ขึ้นไปครับ
พืชส่วนใหญ่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีค่า EC ระหว่าง 1.10-3.5 dS/m แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่ที่ชนิดของพืชด้วยนะครับ ยกตัวอย่างเช่น พืชตระกูลถั่วมักมีผลผลิตที่ลดลงหากดินมีค่า EC เกิน 2 dS/m
การจำแนกระดับความเค็มที่มีผลกระทบต่อพืช (U.S. Soil Salinity Laboratory Staff, 1954)
ยิ่งดินมีโซเดียมปะปนอยู่มากเท่าไร ค่าการนำไฟฟ้าที่วัดจะยิ่งสูงขึ้น และแน่นอนผลกระทบต่อพืชและกิจกรรมของจุลินทรีย์ย่อมรุนแรงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เกี่ยวกับเรื่องความเค็มของดิน ผมอยากให้ทุกท่าน Note เอาไว้นิดนะครับ
แม้ความเป็นด่าง (pH สูง) จะบ่งบอกถึงความเค็มของดินได้ แต่ดินเค็มก็ไม่จำเป็นต้องมีค่าเป็นด่างเสมอไป หากดินบริเวณนั้นมีกำมะถันปนอยู่ในปริมาณสูง ๆ ดินเค็มอาจจะมีค่าเป็นกรดก็ได้เช่นกัน
ดร. คณวัฒน์ ธีรนิธิวัฒน์
หากเราต้องการรู้ว่าดินในสวน หรือในฟาร์มของเราเป็นดินเค็มหรือไม่ ผมแนะนำให้ใช้เครื่องวัดค่า EC ดินวัดจะแม่นยำกว่าเครื่องวัดค่า pH ดินครับ (นี่ก็คืออีกเหตุผลว่าทำไมเกษตรมือโปรถึงมีทั้งเครื่องวัดค่า pH และ EC ดินไว้ใช้งาน)
ข้อมูลเพิ่มเติม: ผลกระทบเมื่อมีปัญหาดินเค็ม
ค่า pH เพิ่ม
ฟอสฟอรัสถูกตรึงไว้เนื่องจากเกิดตกตะกอนกับแคลเซียมที่ละลายออกมามากจนเกินไป
พืชใบร่วง / ใบไหม้
เกิดการตกตะกอนของแคลเซียมและแมกนีเซียมในดินมากขึ้น ทำให้ต้นไม้เกิดอาการใบร่วงและใบไหม้ตามมาได้
พืชขาดน้ำ
เนื่องจากน้ำ "นอกราก" มีความเข้มข้นมากน้ำ "ในราก" น้ำในดินจึงเข้าสู่ในรากไม่ได้
แก้ปัญหายากกว่า
หากปล่อยให้ดินม่ค่า EC ที่สูงโดยไม่มีการแก้ไขอย่างถูกต้อง จะแก้ไขยากและใช้ระยะเวลาแก้ไขนานกว่า
ค่า EC ดิน vs. ธาตุอาหารหลัก
อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น การวัดค่า EC เป็นการวัดปริมาณไอออนของเกลือที่ละลายน้ำได้ที่มีอยู่ในดินทั้งหมด และเนื่องด้วยธาตุอาหารหลัก (Macronutrients) มีเกลือเป็นองค์ประกอบอยู่จำนวนมาก ดังนั้นเราจึงสามารถนำค่า EC ดินมาใช้ประเมินความเข้มข้นของ “ธาตุอาหารหลัก” ที่อยู่ในดินได้ด้วยครับ
การแปลความหมายก็ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ หากดินมีค่า EC ต่ำ แสดงว่าดินในพื้นที่นั้นมีธาตุอาหารหลักไม่เพียงพอ ตรงกันข้าม หากดินมีค่า EC สูง แสดงว่าดินมีธาตุอาหารหลักมาก หรืออาจมากเกินความจำเป็นครับ
แม้ว่าค่า EC ดินจะไม่สามารถชี้เฉพาะเจาะจงได้ว่าธาตุอาหารแต่ละตัวมีปริมาณเท่าไร แต่อย่างน้อยก็เป็นตัวบ่งชี้ภาพรวมได้ดีทีเดียวครับ ดีกว่าเราไม่รู้อะไรเลย
อ่านถึงตรงนี้ คนที่จับหลักการเก่ง ๆ จะเข้าใจทันทีว่าจะเอาข้อมูลนี้ไปประยุกต์ใช้ต่ออย่างไร …. ใช่ครับ ถ้าดินในจุดไหนมีค่า EC สูง เราสามารถใส่ปุ๋ยน้อยลงได้
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่า EC ดิน
ความชื้นในดิน
น้ำในดินมีสารละลายต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบจำนวนมาก น้ำในดินจึงมีความสามารถในการนำไฟฟ้าได้ ด้วยเหตุนี้ดินที่มีความชื้นสูง ย่อมมีค่า EC มากกว่าดินที่แห้ง หรือมีความชื้นน้อยกว่า
อุณหภูมิ
อุณหภูมิ หรือ Temperature เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อค่า EC ในดิน อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ค่า EC ในดินขยับตามขึ้นด้วยครับ ข้อมูลจาก Cropaia ระบุว่าค่า EC ของดินจะเพิ่มขึ้น 2-3 % เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นทุก 1 C
ด้วยเหตุนี้เครื่องวัดค่า EC ดินที่เกรดดี ๆ จะมีฟังก์ชั่นชดเชยอุณหภูมิ หรือ Automatic Temperature Conpensation (ATC) เพื่อช่วยตัดตัวแปร (อุณหภูมิ) ที่ทำให้ค่าคลาดเคลื่อนออกไปนั่นเองครับ
ลักษณะของเนื้อดิน (Soil Texture)
โดยปกติดินที่มีรูพรุน (ยิ่งมีรูพรุนมาก ยิ่งมีพื้นที่สำหรับความชื้นมาก) และเนื้อสัมผัสมากกว่ามักจะมีค่า EC ที่สูงกว่า ตัวอย่างเช่น
- ดินทราย: .0025 – .025 dS/m
- ดินเหนียว – Rich Soil: .025 – .100 dS/m
- ดินร่วน: .25 – 2.5 dS/m
- หน้าดิน: .05 – .25 dS/m
อ้างอิง: https://www.researchgate.net/
จากค่าดังกล่าว จะเห็นว่าดินทรายมีค่า EC ต่ำกว่าดินเหนียว ดินทรายจึงมีความสามารถในการเก็บรักษาไอออนบวกต่ำ รวมทั้งมีโอกาสสูญเสียธาตุอาหารได้ง่ายกว่าดินตะกอนและดินเหนียว ขณะที่ดินตะกอน และดินเหนียวจะเก็บรักษาไอออนบวกและธาตุอาหารได้มีประสิทธิภาพมากกว่า
เครื่องวัดค่า EC ดิน
เห็นคุณค่าและความจำเป็นของการวัดค่า EC ดินกันไปแล้วนะครับ สำหรับสมาชิกไอฟาร์มท่านใดที่ต้องการรู้ค่า EC ของตัวเอง ผมแนะนำรุ่นนี้ครับ
เครื่องวัดค่า EC ดิน แบรนด์ Hanna Groline HI 98331 เป็นแบรนด์ระดับอินเตอร์ที่ทั่วโลกยอมรับ จุดเด่น คือสามารถวัดดินได้โดยตรงเลยครับ ไม่ต้องเสียเวลานำดินมาละลายน้ำให้ยุ่งยาก ที่สำคัญ Calibrate ได้ การ Calibrate ก็ไม่ซับซ้อนอะไร ราคาเพียง 5300- ครับ ส่ง EMS ฟรี มีประกันให้ 3 เดือน ส่วนท่านใดที่อยากได้ทั้งเครื่องวัดค่า EC ดิน และเครื่องวัดค่า pH ดินคู่กันเลย ลองดูโปรฯ แรง ๆ ได้ที่นี่ครับผม
Specifications
- ช่วงการวัด: 0 to 4000 μS/cm | 0.00 to 4.00 mS/cm (dS/m)
- ค่าความละเอียด: 1 μS/cm | 0.01 mS/cm (dS/m)
- ค่าความเบี่ยงเบน: ±50 μS/cm (0 to 2000 μS/cm) | ±300 μS/cm (2000 to 4000 μS/cm) | ±0.05 mS/cm (0.00 to 2.00 mS/cm) | ±0.30 mS/cm (2.00 to 4.00 mS/cm)
- การสอบเทียบ: แบบอัตโนมัติ 1 จุดที่ 1.41 mS / cm
- ช่วงการวัด (อุณหภูมิ): 0.0 to 50.0°C | 32.0 to 122.0°F
- ค่าความละเอียด (อุณหภูมิ): 0.1 °C | 0.1°F
- ค่าเบี่ยงเบน (อุณหภูมิ): ±0.5°C | ±1°F
- การชดเชยอุณหภูมิ: อัตโนมัติ 0.0 -50.0 °C
- แบตเตอรี่: CR2032 Li-ion 3V * 1 ชุด (รวมอยู่ในชุด) – อายุการใช้งานประมาณ 100 ชม.
- สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการใช้งาน: 0-50 °C | RH 95% Max
- ขนาด: 196 x 50 x 21 มม.
- น้ำหนัก: 74 กรัม
สรุป
ในการดูแลจัดการดิน ค่า EC ดินถือเป็นค่าดินที่สำคัญไม่น้อยกว่าค่า pH ดิน ทั้งนี้เพราะค่า EC ในดินเป็นดัชนี้ชี้วัดคุณภาพของดินได้หลายมิติ เช่น ปริมาณธาตุอาหารในดิน ปัญหาดินเค็ม รวมทั้งลักษณะของเนื้อดิน ดังนั้นเจ้าของสวน / เจ้าของฟาร์มควรจะวัดค่า EC ดินของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำค่าที่วัดได้มาวิเคราะห์และปรับปรุงดินให้มีคุณภาพและเหมาะสมกับพืชที่ปลูก
หมายเหตุ: เนื้อหา รูปภาพ การนำเสนอ และอื่น ๆ ในบทความนี้และในเว็บไซต์ทั้งหมดนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ “บริษัท ไอฟาร์ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด” ห้ามลอกเลียน ดัดแปลง หรือนำไปใช้ทางใดทางหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ
-
-5%Out of stockRead moreQuick View
-
-4%Add to cartQuick View
-
-5%Add to cartQuick View