การเพาะเห็ด : 5 เรื่องใหญ่ที่ฟาร์มเห็ดจำนวนหนึ่งมักปฏิบัติผิดตาม ๆ กันมา
การเพาะเห็ด มีหลายขั้นตอนที่ปฏิบัติตาม ๆ กันมาโดยไม่รู้เหตุผลก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่โตในการทำธุรกิจเห็ดได้อย่างไม่น่าเชื่อ ต่อไปนี้คือ 5 ตัวอย่าง “การเพาะเห็ด” ที่ฟาร์มเห็ดจำนวนหนึ่งมักปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องตาม ๆ กันมาจนนำไปสู่การขาดทุน หากไม่อยากผิดพลาดซ้ำรอย นี่คือบทความที่คุณต้องไม่พลาด
ผู้บริหารไอฟาร์ม
ใช้เวลาอ่านประมาณ: 2 นาที
Quick Navigation
มวลอากาศเย็นจะอยู่ระดับต่ำ ๆ ส่วนมวลอากาศร้อนจะลอยขึ้นสู่ที่สูง ด้วยเหตุนี้ความชื้นสัมพันธ์ด้านบนของโรงเรือนเห็ดจึงต่ำกว่าความชื้นที่ด้านล่างของโรงเรือน
ดร. คณวัฒน์ ธีรนิธิวัฒน์
ในการเพาะเห็ดมักเรียนรู้และปฏิบัติตาม ๆ กันมา แม้ส่วนใหญ่จะทำได้ถูกต้องดีอยู่แล้ว แต่หลายๆเรื่องก็ยังมีฟาร์มเห็ดจำนวนหนึ่ง (ไม่มาก) ที่ทำด้วยความคลาดเคลื่อน ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหาย เจ็บตัวขาดทุนไปตาม ๆ กัน ผมขอยกตัวอย่าง 5 เรื่องไว้เป็นกรณีศึกษาร่วมกันครับ
การแต่งหน้าก้อนเห็ด
สิ่งที่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมา: ยังมีฟาร์มจำนวนหนึ่งแต่งหน้าก้อนเห็ดด้วยการเอาปลายช้อนเขี่ยเชื้อความฟ่างออกเสร็จแล้วนำช้อนดังกล่าวไปจุ่มแอลกอฮอล์ด้วยเชื่อว่าแอลกอฮอล์จะฆ่าเชื้อรา โดยเฉพาะราเขียว ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในข้าวฟ่างได้
สิ่งที่ควรทำ: นอกจากแอลกอฮอล์จะไม่สามารถกำจัดเชื้อราที่อาจปนเปื้อนมาจากข้าวฟ่างให้หมดไปได้แล้ว กลับยิ่งจะก่อให้เกิดปัญหา Contamination เชื้อรารุกลามจากก้อนหนึ่งไปสู่อีกก้อนหนึ่งโดยมีช้อนที่ใช้แต่งหน้าก้อนเป็นสื่อ สุดท้ายอาจขยายเป็นวงกว้างจนเกิดความเสียหายถึงขั้นขาดทุนได้ครับ
ขั้นตอนที่ควรปฏิบัติ
1. แยกก้อนที่มีเชื้อราปนเปื้อนอยู่ในข้าวฟ่างออกจากก้อนดี
2. แต่งหน้าก้อนสำหรับก้อนที่ไม่มีปัญหาให้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมดก่อน
3. ฉีดแอลกอฮอล์ลงไปที่หน้าก้อน เพื่อคุมไม่ให้เชื้อราฟุ้งกระจาย
4. เอาปลายช้อนข้าวฟ่างที่มีปัญหาปนเปื้อนออกให้หมด
5. ฉีดแอลกอฮอล์ / พลายแก้วคุมบริเวณหน้าก้อนอีกที
5. ทิ้งไว้ให้หมาดก่อนนำเข้าโรงเรือน
การหยอดเชื้อข้าวฟ่าง (เชื้อขยาย)
สิ่งที่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมา: คิดว่าการหยอดเชื้อข้าวฟ่างลงในก้อนเห็ดจำนวนมาก ๆ จะช่วยให้เส้นใยเจริญเติบโตเร็วขึ้น และเส้นใยเห็ดจะเดินเต็มก้อนได้เร็วขึ้น
สิ่งที่ควรทำ: การหยอดเชื้อข้าวฟ่างเพิ่มมากขึ้น ไม่ช่วยให้ก้อนเชื้อเต็มก้อนได้เร็วขึ้นมากเท่าไร เพราะพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างอาหารเพาะเห็ด (ขี้เลื่อย) และเชื้อเห็ดยังคงมีเท่าเดิม ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงกับเกิดปัญหา Contamination จากราเขียว ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
แนะนำว่าให้หยอดเชื้อข้าวฟ่าง 1 ขวดต่อก้อนเห็ด 45-50 ก้อนก็พอครับ แล้วหันไปโฟกัสเรื่องดูแลสภาพแวดล้อมระหว่างการบ่มก้อนเชื้อให้ดีจะได้ผลดีกว่าเยอะครับ
ในต่างประเทศใช้เชื้อเหลวฉีดลงไปจนถึงก้นก้อน (จริง ๆ เขาฉีดทางก้นถุงไปยังปากถุง) เส้นใยเห็ดเดินเต็มเร็วกว่าการหยอดเชื้อข้าวฟ่างแบบบ้านเราถึงเท่าตัวทั้งที่ก้อนขนาดใหญ่กว่าบ้านเราด้วยซ้ำไปครับ
มีจุดหนึ่งที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเห็ดทุกชนิดต้องการความชื้นในวัสดุเพาะเท่ากันหมด
ดร. คณวัฒน์ ธีรนิธิวัฒน์
การให้น้ำเห็ด
สิ่งที่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมา: ในตำราเพาะเห็ดเล่มเก่า ๆ เกือบทุกเล่มมักบอกให้รดน้ำวันละ 4-6 รอบ หรือรดน้อยแต่บ่อยครั้ง แถมบางที่ยังระบุเวลาที่แน่นอนให้ปฏิบัติตามอีกต่างหาก
สิ่งที่ควรทำ: การให้น้ำควรขึ้นอยู่กับปัจจัย 2-3 อย่างนี้ครับ คือ ชนิดของเห็ด, ระยะการออกดอกของเห็ด และ อุณหภูมิ-ความชื้นสัมพัทธ์ในโรงเรือนในแต่ละช่วงเวลา
ขอหยิบเอาเห็ดนางฟ้าเป็นตัวอย่างฉายให้ดูสักหนึ่งตัวอย่างนะครับ
เห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่ Absorb ความชื้นได้ค่อนข้างดี ความชื้นที่เหมาะสมช่วงออกดอกอยู่ที่ประมาณ 75-80%
ตอนแต่งหน้าก้อนเสร็จแล้ว ให้เอาก้อนเชื้อเห็ดเข้าโรงเรือนเปิดดอก หลังจากนั้นปล่อยให้เส้นใยฟอร์มตัวขึ้นใหม่อีก 2-3 วัน โดยไม่ต้องให้น้ำ (เว้นแต่อุณหภูมิสูงมาก และความชื้นต่ำมาก ๆ และควรเลี่ยงไม่ให้น้ำโดนก้อนเห็ดตรง ๆ)
เมื่อเห็ดเริ่มแทงดอกสักประมาณ 30-40 % ของก้อนเห็ดทั้งหมด ให้เริ่มให้น้ำเพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ (ลดอุณหภูมิไปด้วยในตัว) ช่วงนี้ควรเลี่ยงไม่ให้น้ำโดนก้อนเชื้อเห็ดตรง ๆ เพราะน้ำอาจทำลายเส้นใยเห็ดก้อนที่ยังไม่ออกดอกได้
ใช้วิธีให้น้ำไปที่พื้นโรงเรือน ผนังโรงเรือน พยายามเลี้ยงความชื้นให้ใกล้เคียงกับ 70-75% มากที่สุด
พอเห็ดออกดอกประมาณ 50-60% เริ่มให้น้ำที่ก้อนควบคู่ไปด้วยได้ และพยายามรักษาความชื้นให้ได้ 75-80% จนกว่าจะเก็บดอก
จะให้น้ำกี่ครั้งกี่รอบ ห้ามท่องจำ ให้ยึดเอาอุณหภูมิและความชื้นในโรงเรือนเป็นตัวตั้ง ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้นเป็นตัวตอบเรานะครับ ห้ามใช้ความรู้สึกเด็ดขาด ถ้าขี้เกียจเข้าไปให้น้ำในโรงเรือนบ่อย ๆ ก็ใช้พวก MicroController มาช่วยได้ครับ
การนึ่งก้อนเห็ด
สิ่งที่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมา: นึ่งก้อนเสร็จแล้ว ทิ้งก้อนไว้ในเตานึ่งก้อนต่อไปเรื่อย ๆ เพราะคิดว่าจะช่วยฆ่าเชื้อได้ดียิ่งขึ้น
สิ่งที่ควรทำ: เมื่อนึ่งก้อนครบเวลาที่กำหนดแล้ว ควรเอาก้อนเห็ดออกจากเตานึ่งทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ไอน้ำจับตัวตกกลับไปในก้อนเห็ด เพราะจะทำให้ก้อนเห็ดบางส่วนชื้นเกินไป ก้อนเห็ดจะเสียหายได้ง่าย
อายุก้อนเชื้อเห็ด
สิ่งที่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมา: คนทำเห็ดใหม่ ๆ มักโดนฟาร์มเห็ดที่ขายก้อนเห็ดพูดกรอกหูว่าก้อนเชื้อเห็ดของเขาคุณภาพดีกว่าและอายุก้อนนานกว่าฟาร์มอื่น ๆ (เช่น เห็ดนางฟ้า อายุก้อนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 เดือน บางฟาร์มอาจจะบอกถึง 5-6 เดือน)
สิ่งที่ควรทำ: ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกๆ คือ Break Even Point และ Margin Ratio เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลา
ดังนั้นในการทำธุรกิจเห็ด Factor ที่ Critical กว่า “อายุก้อน” คือ “Conversion Rate” หรืออัตราที่เห็ดเปลี่ยนอาหารเพาะ (ขี้เลื่อย) ไปเป็นดอกเห็ด ตัวนี้มีหน่วยเป็น % นะครับ เช่น เห็ดนางฟ้า มี Conversion Rate อยู่ที่ประมาณ 30-40% หมายความว่า ถ้าก้อนเห็ดหนัก 8 ขีด หรือ 800 กรัม เราจะน่าจะได้ดอกเห็ดอยู่ที่ประมาณ 320 กรัมต่ออายุก้อน
ในเกมส์นี้คนที่ชนะ คือคนที่ทำได้ตาม Conversion Rate ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ไม่ใช่คนที่ลากยาวไป 5-6 เดือน หรือ 7-8 เดือนครับ ยิ่งอายุก้อนนาน แต่ Conversion Rate ต่ำ ปัญหาใหญ่จะตามมา 2 เรื่องครับ คือ หนึ่ง กำไรไม่ได้อย่างที่คิด และสอง รอบเงินเข้า (Cash Inflow) จะถูกยืดออกไป
เจอไป 2 ดอกนี้ก็จอดไม่ต้องแจวครับ
นี่เป็นเพียง 5 เรื่อง 5 มุมที่ผมยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ยังมีอีกหลายประเด็นที่คนทำเห็ดทั้งมือใหม่และมือเก่าปฏิบัติตาม ๆ กันมาโดยไม่ถูกต้องนัก
ดังนั้นก่อนจะลงมือทำอะไร ฝากสมาชิกไอฟาร์มศึกษาให้รอบครอบ หาเหตุผลเป็นหลักเป็นการรองรับให้ได้ เพียงเท่านี้ความสำเร็จก็เป็นของทุกคนครับ
-
-3%Add to cartQuick View