“ค่า pH ดิน” หรือ “กรดด่างดิน” ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช หรือต้นไม้หากอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสมกับพืชที่ปลูก บทความนี้จะพาคุณเจาะลึกเกี่ยวกับ “ค่า pH ดิน” ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้น จนถึงการแก้ปัญหาเรื่องกรดด่างที่สูง หรือต่ำเกินไป
ผู้บริหารไอฟาร์ม
ใช้เวลาอ่านประมาณ: 3 นาที
Quick Navigation
การใส่ปุ๋ยในขณะที่ดินมีปัญหากรดจัด หรือด่างจัด ไม่เกิดประโยชน์ต่อพืชเต็ม 100% เพราะธาตุอาหารบางตัวจะถูกตรึงไว้ พืชนำไปใช้งานไม่ได้ ยิ่งใส่ปุ๋ยมาก ยิ่งมีโอกาสขาดทุนสูง
ดร. คณวัฒน์ ธีรนิธิวัฒน์
ผมทำสรุปเกี่ยวกับ pH ดิน หรือ กรดด่างดินมาฝากสมาชิก IFARM โดยเฉพาะ
รอบนี้ขอเน้น ๆ 29 ข้อก่อนครับ
วันหน้ามีเวลา จัดเพิ่มให้อีกแน่นอนครับ
ความเป็นกรดด่างของดินเบื้องต้น
1. ค่าความเป็นกรดด่าง หรือ pH มีช่วงระหว่าง 1-14 โดยที่ pH 7 คือค่ากลาง หากดินมีค่า pH ต่ำกว่า 7 จะถือว่าดินเป็นกรด ตรงกันข้าม ถ้าสูงกว่า 7 pH แสดงว่าดินเป็นด่างครับ
2. ค่า pH ของดินแต่ละช่วงเป็นตัวควบคุม “การปลดปล่อยธาตุอาหารพืช” ของดิน ดังนั้นความสามารถในการดูดธาตุอาหารของพืชในดินที่มีความเป็นกรดด่างจะแตกต่างกัน บางช่วงตรึงธาตุอาหาร (บางอย่าง) ไว้ จนไม่เพียงพอต่อพืช
บางช่วงปล่อยธาตุอาหาร (บางอย่าง) ออกมามากจนเป็นพิษกับพืช
หากทราบรายละเอียดลึก ๆ แนะนำให้อ่านบทความนี้นะครับ
3. ค่าความเป็นกรดด่างของดินที่เหมาะสมกับพืชโดยทั่วไปควรอยู่ที่ 6.0-6.5 pH ไปถึง 7 pH ก็ไม่ค่อยดี กดให้อยู่แถว 6.5 pH จะดีมากครับ
4. ดินที่ถูกจัดเป็นดินที่มีปัญหาด้านเกษตร คือดินที่มีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 pH และสูงกว่า 8.5 pH
5. ดินเป็นกรดมีหลายสาเหตุครับ เช่น
- วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นกรด
- เกิดจากการชะละลายธาตุที่เป็นด่างออกไปจากดินโดยน้ำฝนหรือน้ำชลประทาน
- พืชดูดเอาธาตุที่เป็นด่างออกไปแล้วปลดปล่อยกรดลงไปแทนที่
- การใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีต่างๆ ที่มีสารก่ามะถันเป็นองค์ประกอบ และ
- เกิดจากฝนกรดบริเวณใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
6. ดินที่เป็นกรด จะเรียกว่าดินเปรี้ยว ส่วนดินที่เป็นด่าง จะเรียกว่าดินเค็ม ส่วนดินเค็มบางทีก็อาจไม่ได้มีค่า pH เป็นด่างเสมอไปนะครับ เหตุผลอยู่ในข้อ 7 ครับ
7. ดินเค็ม ภาษาอังกฤษใช้ Saline Soil หมายถึงดินที่มีปริมาณเกลือชนิดต่าง ๆ ที่ละลายน้ำได้ปะปนในเนื้อดินสูง ถ้าสูงมาก ๆ จะส่งผลให้พืชไม่สามารถดูดน้ำเข้าสู่ระบบรากได้สะดวก หรือเกิดสภาพที่เป็นพิษกับพืชครับ ดินเค็มส่วนใหญ่มักมีค่า pH เป็นกลาง หรือด่าง แต่ก็มีเหมือนกันที่มีค่ากรด ซึ่งมักเป็นดินในแถบชายฝั่งทะเล หรือได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเล
ปกติวิธีวัดค่าความเค็มของดินมีหลายวิธีครับ แต่ที่นิยมใช้กันทั่วไปคือการดูจากค่านำไฟฟ้าของดิน หรือค่า EC (Electrical Conductivity) โอกาสหน้าจะเอาเรื่องนี้มาขยายอีก ขอติดไว้ก่อนนะครับ
8. การตรวจสอบความเป็นกรดด่างของดินทำได้หลายวิธี โดยเจ้าของฟาร์ม / สวนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เช่น ใช้กระดาษลิตมัส หรือเครื่องมือวัด pH ดิน หรือ เก็บตัวอย่างดินส่งไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
9. ข้อสังเกตุง่าย ๆ อย่างหนึ่งของดินที่เปรี้ยวจัด ถ้ามองด้านกายภาพ เนื้อดินเป็นดินเหนียวแข็ง เวลาแตกระแหงจะเป็นรอยกว้างและลึกครับ แต่แนะนำว่าวัดค่าตามข้อ 8 เอาดีกว่าครับ แน่นอนกว่าครับ
ถอดบทเรียน : ปลูกทุเรียนตาย 2 รอบ ขาดทุนหนัก เพราะโดนความเค็มเล่นงาน
ปลูกทุเรียนแล้วต้นไม่รอด ใบไหม้ ใบร่วงหมดต้น? พี่อดิศักดิ์เจอปัญหานี้มาแล้ว แต่ด้วยการวัดค่าดินและน้ำอย่างถูกต้อง เขาได้ค้นพบวิธีแก้ไขที่ช่วยเซฟเงินไปหลายหมื่น มาดูกันว่าการปรับค่าน้ำและปลูกต้นทองหลางน้ำแซมทุเรียนช่วยให้สวนทุเรียนกลับมามีชีวิตได้อย่างไร
พืชจะได้รับผลกระทบอย่างไรเมื่อค่า pH ดินไม่เหมาะสม ?
10. การใส่ปุ๋ยในขณะที่ดินมีปัญหากรดจัด หรือด่างจัด ไม่เกิดประโยชน์ต่อพืชเต็ม 100% เพราะธาตุอาหารบางตัวจะถูกตรึงไว้ พืชนำไปใช้งานไม่ได้ ยิ่งใส่ปุ๋ยมาก ยิ่งมีโอกาสขาดทุนสูง ดังนั้นต้องปรับปรุง pH ดินให้เข้าล็อคเสียก่อนครับ
11. คำว่าเข้าล็อค ไม่ใช่ว่าต้องให้ดินมีค่า 6.0-6.5 pH เสมอไป เพราะพืชแต่ละชนิดเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีระดับค่า pH แตกต่างกันไปครับ เช่น ชา (4.5-5.5 pH) กล้วย (6.0-7.0 pH) สัปปะรด (5.0-6.5 pH) กฏข้อสำคัญ ก่อนจะปลูกพืชอะไร ศึกษาเสียก่อนนะครับว่าพืชที่ว่าชอบ pH ประมาณไหน
12. ปัญหาดินเป็นกรดจัดส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช 2 ด้านครับ
หนึ่ง ทำให้พืชขาดธาตุอาหาร โดยเฉพาะฟอสฟอรัสและแคลเซียม และ
สอง ทำให้ธาตุอาหารพืชบางชนิดละลายออกมามากจนเป็นพิษต่อพืช เช่น อะลูมินัม
13. หากพืชได้รับอะลูมินัมในปริมาณมากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นครับ?
คำตอบรากพืชจะมีปัญหา กุด สั้น ไม่มีการพัฒนาของราก พืชไม่มีขนรากอ่อน และที่เห็นได้ชัดรากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้มครับ
14. ส่วนเมื่อพืชได้รับแมงกานีสมากเกินจำเป็นจนเป็นพิษ อาการที่เห็นได้ชัดเจนในทุกพืช และมีลักษณะใกล้เคียงกันคือใบล่างจะมีจุดสีน้ำตาลเล็กๆ เกิดขึ้นบริเวณท้องใบ
15. การย่อยตัวเองของสารอินทรีย์จะขึ้นรวดเร็วในช่วงที่ดินมีค่า pH เป็นกลาง หรือกรดอ่อน (6.0 -7.0 pH)
16. และแน่นอนครับ ระดับความเป็นกรดเป็นด่างที่ต่ำกว่า 4.5 (กรดจัดมาก) หรือสูงกว่า 9.0 (ด่างจัดมาก) มีผลยับยั้งการสลายตัวของสารอินทรีย์อย่างมาก
17. หากดินเป็นกรดสูง คือตั้งแต่ 5.5 pH ลงมา กิจกรรมของแบคทีเรียและแอกติโนไมซีสต์ (Actinomycetes) จะลดลงมากขณะที่เชื้อรายังทนทานอยู่ได้สบายครับ ตรงนี้ล่ะครับมีโอกาสเกิดปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าในพืชได้ง่ายครับ
แนวทางการแก้ปัญหาดินมีสภาวะกรดจัด / ด่างจัด
18. หากดินมีค่า pH ต่ำ (ดินเป็นกรด) ห้ามใช้น้ำหมักชีวภาพรดดินเด็ดขาดครับ น้ำหมักมีความเป็นกรดสูงเอาเรื่องครับ โดยช่วงกระบวนการหมักจะอยู่ที่ 3.0-4.0 pH หมักจบแล้วจะเขยิบขึ้นประมาณ 4.0-4.8 pH
ถ้าดินเป็นกรด ห้ามใช้น้ำหมักรดเด็ดขาด เพราะน้ำหมักมีค่า pH ค่อนข้างต่ำ ดินจะมีปัญหามากขึ้น
ดร. คณวัฒน์ ธีรนิธิวัฒน์
แต่ถ้าดินมีความเป็นด่างมาก จัดน้ำหมักชีวภาพได้เลยครับ ความเป็นกรดของน้ำหมักจะช่วยปรับสภาพ pH ในดินที่เป็นด่างให้ดีขึ้นได้ แต่ต้องรดให้สม่ำเสมอด้วยนะครับ
19. เนื่องจากการชะล้างของน้ำฝน หรือน้ำจากชลประทาน ธาตุอาหารในดินถูกชะล้างได้ง่ายโดยเฉพาะธาตุประจุบวกที่เป็นด่าง
ดินจึงมีสภาพเป็นกรดได้ง่าย การห่มดิน / การคลุมดิน / การปลูกหญ้าแฝกจึงช่วยป้องกันปัญหาดินเป็นกรดอย่างได้ผลวิธีหนึ่งครับ
ที่ “ไอฟาร์ม” ก็ผสมผสานหลายวิธีครับ ทั้งปลูกหญ้าแฝก ทั้งห่มดินด้วยฟาง / หญ้า หรือถ่านที่เผาเอง
20. การปรับปรุงดินทำได้ 4 วิธี คือ
- การแก้ไขด้วยการเติมวัสดุปรับปรุงดิน ซึ่งทำได้ 2 วิธี
– การเติมสารปรับปรุงด้านกายภาพ เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เศษซากพืช หรือวัสดุสังเคราะห์ปรับสภาพดิน (โพลิเมอร์ หรือตัวดูดซับน้ำต่างๆ) หรือ
– การเติมสารปรับปรุงดินทางด้านเคมี เช่น ปูนทางด้านเกษตร ยิปซัม ภูไมต์ ไคโตซาน หรือถ่านชีวภาพ (ไบโอชาร์) - การจัดการทางกายภาพ เช่น การพรวนดิน
- การปรับเปลี่ยนวิธีจัดการดิน
- ผสมผสานทั้ง 3 วิธีเข้าด้วยกันครับ
21. อันนี้ฟังอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องดินท่านหนึ่งมา ท่านบอกว่าดินเป็นด่าง แก้ไขยากกว่าและใช้ระยะเวลานานกว่าดินเป็นกรด
ดังนั้นระวังอย่าให้ดินเป็นด่าง ไม่งั้นงานเข้าครับพี่น้อง
22. มีรายงานชิ้นหนึ่งของสำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดินระบุว่าส่วนใหญ่สภาพเป็นกรดของดินในประเทศไทยเกิดจากการปลูกพืชชนิดเดิมอย่างต่อเนื่องและมีการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก ใครที่ยังทำแบบนี้อยู่ ถึงเวลาต้องปรับต้องเปลี่ยนแล้วนะครับ
23. ปกติน้ำฝนมีค่าความเป็นกรดอ่อน ๆ อยู่แล้ว (ไม่ใช่ฝนกรดนะครับ) เมื่อขังอยู่หลาย ๆ วันก็เกิดการสะสมความเป็นกรด (พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากต้องระวัง) แถมยังอัดปุ๋ยเคมีที่มีความเป็นกรดอ่อน ๆ ใส่แบบไม่ยั้งมือ มีโอกาสดินเป็นกรดสูงนะครับ
24. หากดินมีปัญหาเรื่องกรดด่าง จะเน้นแก้ไขค่า pH อย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาเติมธาตุอาหารที่ขาดไปลงไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น นาข้าวมีปัญหาดินเป็นกรด “กวิน ปุญโญกุล” นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ท่านแนะนำให้ใช้ปูนโดโลไมท์มาปรับปรุงดิน เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหากรดในดินสูงแล้วยังช่วยเติมธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ ซึ่งเป็นธาตุที่จำเป็นสำหรับข้าวอีกด้วย
25. วัสดุปูนทางการเกษตรที่ใช้แก้ปัญหาดินเป็นกรดมีหลายชนิด เช่น ปูนมาร์ล โดโลไมต์ ปูนขาว แคลไซต์ หินปูนบด
แต่ละอย่างมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันแต่มีองค์ประกอบต่างกัน เช่น โดโลไมต์มีแคลเซียมและแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบ ส่วนปูนมาร์ลมีแคลเซียมคาร์บอเนตและดินเหนียวเป็นองค์ประกอบ
26. ปูนทางการเกษตรที่ดีมักมีลักษณะตามนี้ครับ
- มีค่าความสามารถในการแก้ความเป็นกรด (CCE) ไม่ต่ำกว่า 80% (ปกติจะระบุไว้ที่กระสอบปูน)
- ค่า pH มากกว่า 8.0
- ความชื้นไม่เกิน 5%
- เนื้อละเอียด ยิ่งละเอียดยิ่งสัมผัสดินได้มาก ทำให้เกิดปฏิกิริยาสะเทินกรดได้เร็วกว่าเนื้อหยาบครับ
27. ส่วนค่าความสามารถในการสะเทินกรดของปูนแต่ละชนิดก็ตามนี้ครับ
- ปูนมาร์ล (ไม่ต่ำกว่า 80%)
- หินปูนบด (ไม่ต่ำกว่า 80%)
- แคลไซต์ (ไม่ต่ำกว่า 90%)
- โดโลไมต์ (ไม่ต่ำกว่า 90%)
- ปูนเผา (ไม่ต่ำกว่า 90%)
- ปูนขาว (ไม่ต่ำกว่า 100%)
อ้างอิง: คู่มือการพัฒนาที่ดินสำหรับหมอดินอาสาและเกษตรกร
28. เมื่อใช้ปูนปรับปรุงดินแล้ว ค่า pH ยังไม่ปรับทันที ต้องทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับระดับค่า pH ปริมาณปูนที่ใช้)
29. สุดท้ายครับ ต้องเช็คระดับค่า pH อย่างสม่ำเสมอ อันนี้เป็นกฏเหล็กครับเพราะค่า pH ในดินสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาครับ และถ้าให้ดีนำตัวอย่างดินไปส่งตรวจหาธาตุอาหารบ้างก็ดีครับ จะได้รู้ว่าธาตุไหนขาดธาตุไหนเกิน
จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ….ผลผลิตเข้าเป้า เงินตุงกระเป๋า
-
-5%Add to cartQuick View
-
-5%Add to cartQuick View
-
-5%Add to cartQuick View
-
-5%Out of stockRead moreQuick View