ไรโซเบียม คือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดิน เพราะสามารถช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาให้พืชนำไปใช้ได้ แต่ทำยังไงดินในสวนของเราถึงจะมีไรโซเบียม บทความนี้จะพาคุณไปพบกับคำตอบ
ผู้บริหารไอฟาร์ม
ใช้เวลาอ่านประมาณ: 3 นาที
Quick Navigation
ถ้าใครติดตาม Content ของ IFARM อย่างสม่ำเสมอ จะเห็นว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับค่า pH หรือกรดด่างของดินอยู่หลายชิ้น ที่ต้องย้ำบ่อย ๆ เพราะไม่อยากให้ทุนหายกำไรหดกันครับ คนที่ทำเกษตรแล้วไม่รู้ว่าค่าดิน / น้ำในสวนของตัวเองอยู่ที่เท่าไรบ้าง ผมถือว่าท่านเป็นคนที่กล้าได้กล้าเสียอย่างมาก ๆ
แต่จากประสบการณ์ส่วนใหญ่จะ “เสีย” มากกว่า “ได้” นะซิครับ
ค่า pH ดิน เป็นเรื่องคอขาดบาดตายครับ ไม่วัดไม่ได้ ไม่รู้ไม่ได้ เพราะมันมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืชในหลายๆ มิติ เช่น การนำธาตุอาหารไปใช้ การขาดน้ำ และการเกิดโรคต่าง ๆ
ดร. คณวัฒน์ ธีรนิธิวัฒน์
ในบทความก่อน ๆ นี้ ผมเคยเขียนไว้ว่า
“ยิ่งใส่ปุ๋ย ยิ่งขาดทุน”
หมายความว่าอะไร ? หมายความว่าธาตุอาหารมีเต็มคาราเบลเลย แต่พืชดันดูดเอาไปใช้ไม่ได้ เพราะถูกค่ากรดด่างล็อคเอาไว้ เจ้าของสวนไม่รู้ เห็นพืชไม่โตหรือโตสู้คนอื่นไม่ได้ ก็เข้าใจผิดคิดว่าปุ๋ยไม่พอ อัดปุ๋ยเข้าไปเพิ่มอีก
เห็นไหมครับ เอาแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว โยนเงินทิ้งไปไม่รู้เท่าไรแล้ว
ค่า pH ดิน กับจุลินทรีย์
บทความชิ้นนี้ก็ยังวนเวียนอยู่ที่เรื่องค่า pH ของดิน แต่จะขอเปลี่ยนโฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ระหว่าง pH ดิน, จุลินทรีย์ และ “ต้นทองหลางน้ำ สายพันธุ์ก้านแดง มีหนาม”
อยากจะบอกแบบนี้ครับ
ค่า pH ดินไม่เพียงแต่กระทบต่อพืชเท่านั้น แต่มันยังส่งผล (ดี / ร้าย) ต่อการเจริญและกิจกรรมต่าง ๆ ของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินแบบจัง ๆ อีกด้วยครับ จุลินทรีย์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการหมุนเวียนสารอาหาร การย่อยสลายสารอินทรีย์ และการปรับปรุงโครงสร้างดิน ดังนั้นหากดินไม่มีจุลินทรีย์ หรือมีแต่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ คงเป็นไปได้อยากที่พืชจะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดี
เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างชนิดของจุลินทรีย์มาให้ดู 2-3 กลุ่มตามนี้ครับ
Advertising Area
แบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนได้
- ตัวอย่าง: Rhizobium, Azotobacter
- ค่า pH ที่เหมาะสม: 6.0 – 7.5
- ประโยชน์: แบคทีเรียเหล่านี้ช่วยแปลงไนโตรเจนจากอากาศให้เป็นแอมโมเนีย (NH3) หรือไนเตรต (NO3-) ที่พืชสามารถใช้ได้ การเจริญของแบคทีเรียเหล่านี้จะดีที่สุดในดินที่มีค่า pH ใกล้เคียงกับกลาง (neutral) หาก pH ต่ำกว่า 6.0 จะลดประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจน ส่งผลให้พืชขาดไนโตรเจนและเจริญเติบโตได้ไม่ดี
จุลินทรีย์สลายซากพืช (Decomposers)
- ตัวอย่าง: Fungi, Actinomycetes
- ค่า pH ที่เหมาะสม: 5.5 – 8.0
- ประโยชน์: จุลินทรีย์เหล่านี้ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ในดิน เช่น ใบไม้และซากพืช ทำให้เกิดการปลดปล่อยสารอาหารที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ Fungi มักสามารถทนต่อ pH ที่เป็นกรดได้ดีกว่าแบคทีเรีย โดยสามารถเจริญได้ดีในช่วง pH 5.5 – 7.0 ในขณะที่ Actinomycetes มักเจริญได้ดีในดินที่มีค่า pH 6.0 – 8.0
จุลินทรีย์สร้างกรดฮิวมิก (Humic acid producers)
- ตัวอย่าง: Humicola
- ค่า pH ที่เหมาะสม: 5.0 – 7.5
- ประโยชน์: จุลินทรีย์เหล่านี้ช่วยในการสร้างกรดฮิวมิก ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่ช่วยรักษาความชื้นในดินและเพิ่มความสามารถในการเก็บรักษาสารอาหาร ในดินที่มีค่า pH ต่ำกว่า 5.0 จุลินทรีย์เหล่านี้อาจทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้การสร้างฮิวมิกในดินลดลง
ลองหลับตานึกดูซิครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าดินของเราขาดจุลินทรีย์เหล่านี้ไป
เป็นเรื่องใช่ไหมครับ ?
ค่า pH ต่ำไปก็เป็นเรื่อง ค่า pH สูงเกินไปก็ได้เรื่อง
ผลกระทบค่า pH ดินต่อจุลินทรีย์
ผลกระทบของ pH ดินที่ต่ำ
ดินที่มีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 อาจเป็นกรดเกินไปสำหรับจุลินทรีย์บางชนิด เช่น แบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนได้ (เช่น Rhizobium – ไรโซเบียม) ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนลดลง พืชอาจขาดแคลนไนโตรเจน ทำให้เกิดการเจริญเติบโตช้า ใบเหลือง และผลผลิตลดลง นอกจากนี้ การย่อยสลายซากพืชอาจช้าลงเนื่องจากจุลินทรีย์ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพดินที่เป็นกรด
ผลกระทบของ pH ดินที่สูง
ดินที่มีค่า pH สูงกว่า 8.0 มักจะเป็นด่างเกินไปสำหรับจุลินทรีย์บางชนิด เช่น Rhizobium และ Actinomycetes ซึ่งทำให้การตรึงไนโตรเจนและการย่อยสลายสารอินทรีย์ลดลง นอกจากนี้ ดินที่เป็นด่างอาจทำให้พืชไม่สามารถดูดซึมฟอสฟอรัสและธาตุเหล็กได้ดี ทำให้เกิดการขาดสารอาหารและลดประสิทธิภาพในการเจริญเติบโต
เห็นไหมครับว่าได้เรื่องทั้งขึ้นทั้งล่อง
ไรโซเบียม
ประโยชน์ของไรโซเบียม
ในบรรดาตัวอย่างจุลินทรีย์ข้างต้น ตัวที่คนส่วนใหญ่น่าจะเคยได้ยินชื่อและรู้ถึงสรรพคุณกันเป็นอย่างดีตั้งแต่เรียนชั้นประถม หรือ ม. ต้น ก็คือ Rhizobium หรือไรโซเบียม
ทวนให้สักนิดสำหรับคนขี้ลืม
Rhizobium เป็นกลุ่มของแบคทีเรียประเภท Fast Growing ที่สามารถสร้างปุ๋ยให้กับพืชได้ โดยเปลี่ยนก๊าซไนโตรเจน ซึ่งมีอยู่ในชั้นบรรยากาศถึง 78% ไปเป็นแอมโมเนีย กระบวนการนี้เรียกว่า “การตรึงไนโตรเจนจากอากาศ” หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Nitrogen-fixing bacteria
อย่างไรก็ดีครับ กระบวนการตรึงไนโตรเจนจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของทั้ง Rhizobium และพืช โดยเฉพาะในพืชตระกูลถั่ว (Leguminous plants) ศัพท์ทางการเรียกว่า “Symbiosis” … เป็นภาวะพึ่งพาซึ่งกันและกัน
แบคทีเรียเหล่านี้จะสร้างปมราก (Nodules) บนรากของพืช เมื่อปมรากเกิดขึ้นแล้ว Rhizobium จะทำหน้าที่แปลงไนโตรเจนจากอากาศให้เป็นแอมโมเนีย (NH3) หรือไนเตรต (NO3-) ซึ่งเป็นรูปแบบของไนโตรเจนที่พืชสามารถดูดซึมและใช้ในการเจริญเติบโตได้
กระบวนการเกิดปมราก
กระบวนการเกิดปมราก (Nodules) เป็นแบบนี้ครับ
- การเกิดเชื้อของ Rhizobium: เมื่อพืชตระกูลถั่วเริ่มเจริญเติบโต รากของพืชจะปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า “Flavonoids” ออกมา สารเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดึงดูดแบคทีเรีย Rhizobium ที่อยู่ในดินให้เข้ามาใกล้ราก เมื่อ Rhizobium รับสัญญาณนี้ แบคทีเรียจะปล่อยสารเคมีบางอย่างที่กระตุ้นให้เซลล์รากของพืชสร้างปมรากขึ้น
- การสร้างปมราก: Rhizobium จะเข้าสู่รากของพืชผ่านรูเล็กๆ บนผิวราก แล้วเคลื่อนไปยังบริเวณที่ปมรากจะถูกสร้างขึ้น เซลล์ของรากพืชจะเติบโตและสร้างโครงสร้างกลมๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ปมราก” ภายในปมรากนี้ Rhizobium จะเริ่มทำงานในการแปลงไนโตรเจนจากอากาศให้เป็นสารอาหารที่พืชสามารถใช้ได้
- การตรึงไนโตรเจน: ภายในปมราก Rhizobium จะเปลี่ยนไนโตรเจนจากอากาศให้กลายเป็นแอมโมเนีย (NH3) หรือไนเตรต (NO3-) ซึ่งพืชสามารถดูดซึมและใช้ในการสร้างโปรตีนและสารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
หากจะถามว่าปมรากมีความสำคัญยังไงกับดินหรือกับพืชบ้าง ?
ง่าย ๆ เลยครับมันช่วยให้พืช (ตระกูลถั่ว) สามารถรับไนโตรเจนที่จำเป็นจากอากาศได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปุ๋ยไนโตรเจนเคมีแต่อย่างเดียว
- ค่าปุ๋ยลดไหมครับ ?
- สภาพแวดล้อมดีขึ้นไหมครับ ?
- สภาพดินดีขึ้นไหมครับ ?
ประโยชน์เท่านี้ก็เกินพอแล้วครับ
ต้นทองหลางน้ำ และไรโซเบียม
ถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะอยากรู้แล้วว่า “ต้นทองหลางน้ำ” มาเกี่ยวอะไรกับ “ค่า pH ดิน” และ “Rhizobium”
อธิบายแบบนี้ครับ
“ต้นทองหลางน้ำ” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Erythrina variegate Linn. อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE จัดเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่งเหมือนกันครับ …. แต่เป็นถั่วประเภทยืนต้น เป็นถั่วต้นใหญ่ ที่สูงได้ถึง 15-20 เมตร
อย่างนี้เท่ากับว่าปลูก “ต้นทองหลางน้ำ” แล้วดินจะดี สภาพแวดล้อมจะดี และค่าปุ๋ยจะลดเหมือนกัน เพราะมีปมรากเช่นเดียวกับถั่วอื่น ๆ
คำตอบคือ “ใช่” ครับ …. แต่มี “แต่” ครับ
ถ้าอ่านที่ผมเขียนตั้งแต่ต้น จะจับประเด็นสำคัญได้ 2 ประเด็นครับ
1) ต้นทองหลางไม่ได้มีไรโซเบียมด้วยตัวมันเองเหมือนที่หลาย ๆ คนชอบพูดนะครับ ไรโซเบียมมันอยู่ในดิน อยู่ในธรรมชาติ
ดร. คณวัฒน์ ธีรนิธิวัฒน์
2) ถ้าไม่มีไรโซเบียม ที่อาศัยอยู่แบบ Symbiosis ร่วมกับต้นทองหลางน้ำ ปมรากในต้นทองหลางน้ำ ก็อาจจะไม่มีหรือมีน้อยได้
ดร. คณวัฒน์ ธีรนิธิวัฒน์
สิ่งที่เราต้องคิดต่อก็คือ “อะไรทำให้ Rhizobium ไม่มา Featuring กับต้นทองหลางน้ำล่ะ?”
ก็อยู่แล้วไม่สบายตัวสบายใจไงครับ อาจจะมีสาเหตุหลาย ๆ ปัจจัย แต่หนึ่งในนั้นต้องมีค่า pH ของดินรวมอยู่ด้วยแน่ ๆ ครับ
ผมพยายามหาเคสจริงมาสนับสนุนเรื่องที่ “ต้นทองหลางน้ำ” อาจจะไม่มีปมราก หรือมีน้อย แต่ก็หาไม่ได้ สุดท้ายกะว่าจะให้เจ้าหน้าที่ Upload ขึ้นเว็บไซต์เลย ….เอาเท่าที่มีไปก่อน
แต่เหมือนฟ้ามาโปรดครับ …. ช่วงบ่าย ๆ เจ้าหน้าที่มาเล่ากับผมว่าวันนี้มีอาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นนักวิชาการทำงานอยู่ที่ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)” โทรมาคุย (จะซื้อชุดทดสอบ NPK) คุยไปคุยมาท่านบอกชอบบทความทุกเรื่องที่ผมเขียนมาก (ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจครับ) รวมทั้งชื่นชมที่ IFARM โปรโมทให้ปลูกต้นทองหลางน้ำอย่างแข็งขัน ตัวท่านเองก็พยายามชักชวนให้ชาวบ้านปลูกเช่นกัน ช่วงหนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่าที่ “บางกระเจ้า” ก็มีการปลูกต้นทองหลางน้ำเหมือนกัน แต่ปรากฎว่า “ต้นทองหลางน้ำ” ที่ปลูกที่นั่นไม่มี “ปมราก” เลย หรือมีน้อยมาก ๆ
อันนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า “ต้นทองหลางน้ำ” มีโอกาสที่จะไม่มีปมรากได้เหมือนกัน
เผอิญผมไม่ได้คุยกับอาจารย์ท่านโดยตรง ผมก็เลยยังไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่ แต่ส่วนตัวสันนิษฐานว่าอาจเป็นได้ว่าค่า pH ดิน / น้ำแถวนั้นอาจไม่ค่อยจะสู้ดีนัก
เอาไว้มีโอกาสจะแวะเข้าไปดูที่ “บางกระเจ้า” ให้เห็นกับตาตัวเองเสียหน่อย
ไม่ว่าเคสที่ “บางกระเจ้า” จะมีต้นสายปลายเหตุจากอะไร แต่เรื่องผลกระทบของค่า pH ดินที่มีต่อดิน จุลินทรีย์ และพืชคือข้อเท็จจริงที่เจ้าของสวนมองข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาดครับ
จะปลูกพืชอะไร ทั้งพืชหลัก หรือพืชพี่เลี้ยง / พืชแม่นมอย่างต้นทองหลางน้ำต้องวัดค่าดิน + น้ำเสียก่อน
สรุป
- ค่า pH ของดิน (และของน้ำ) มีความสำคัญต่อจุลินทรีย์ และพืช
- หมั่นตรวจค่า pH ดินด้วยเครื่องมือที่ไว้ใจได้อย่างสม่ำเสมอ (ไอฟาร์มมีจำหน่ายนะ … ฮ่า)
- ปลูกต้นทองหลางน้ำ เป็นพืชพี่เลี้ยง ดีต่อดิน และพืชหลักแน่นอน (แต่ต้องรู้จักการดูแลที่ดีด้วย)
- ให้เลือกสายพันธุ์ก้านแดง มีหนาม เหตุผลผมอธิบายไปแล้ว
ใช้ต้นทองหลางน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ถ้าคุณอยากรู้จักต้นทองหลางน้ำ สายพันธุ์ก้านแดง มีหนาม และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสวนทุเรียน หรือสวนอื่น ๆ คุณต้องไม่พลาดสิ่งนี้
ทำไมควรเลือกปลูก "ต้นทองหลางน้ำ" ก้านแดง มีหนาม
หลังจากที่ IFARM ได้จุดกระแสให้ “ต้นทองหลางน้ำ” กลับมาเป็นที่นิยมปลูกกันมากขึ้นอย่างกว้าง ในฐานะพืชแม่นม / พืชพี่เลี้ยงในสวนทเุรียน หรือไม้เศรษฐกิจอื่น ๆ ทำให้มีการจำหน่ายทั้งต้นกล้า / กิ่งทองหลางน้ำกันอย่างคึกคัก ซึ่งแต่ละคนก็พยายามสร้างจุดเด่นจุดขายของตัวเอง จนคนที่ต้องการซื้อไปปลูกเกิดความสับสนว่าพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกควรเป็นสายพันธุ์ไหนกันแน่ … วันนี้ IFARM ขออาสาไขข้อข้องใจให้ทุกคนเองครับ
-
-5%Add to cartQuick View
-
-5%Out of stockRead moreQuick View
-
-5%Add to cartQuick View